Academic

ความเชื่อมโยงของชุดตัวอักษรไทยในบริบทของวิวัฒนาการและการสร้างรูปอักษร
The Connection of Thai typeface in the context of evolution and letter formation


ผศ.สรรเสริญ เหรียญทอง ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร
Asst. Prof. Sansern Rianthong Department of Communication, Faculty of Business, Economics and Communications Naresuan University
คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร 99 หมู่ 9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
E-mail: zooddooz@gmail.com
ข้อมูลทั้งหมดมาจาก:
Rianthong, S. (2023). The Connection of Thai Typeface in the Context of Evolution and Letter Formation. Journal of Arts and Thai Studies.VOL. 45 NO. 3 (2023): SEPTEMBER-DECEMBER / Articles. Retrieved from https://so08.tci-thaijo.org/index.php/artssu/article/view/1926

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: บทความวิชาการเรื่องนี้มีจุดประสงค์เพื่ออธิบายการเชื่อมโยงของตัวอักษรไทยในบริบทของวิวัฒนาการและการสร้างรูปอักษร เพื่อจำแนกหมวดหมู่ของแบบตัวอักษรไทย วิธีการศึกษา: ศึกษารูปแบบตัวอักษรไทยจากเอกสารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จำแนกกลุ่มของชุดตัวอักษรตามเทคนิคการสร้างรูปอักษรในแต่ละยุคสมัย จากนั้นวิเคราะห์และสังเคราะห์ความเชื่อมโยงของชุดอักษรแต่ละรูปแบบ ผลการศึกษา: ตัวอักษรไทยช่วงอยุธยาตอนปลาย มีโครงสร้างอักษรใกล้เคียงกับอักษรไทยปัจจุบัน ต่อมาพัฒนาเป็นอักษรไทยหลากหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งลักษณะของชุดอักษรไทยตามวิวัฒนาการและรูปแบบการสร้างรูปอักษร ออกได้ 7 รูปแบบหลัก ดังนี้ อักษรไทยเสมือนโบราณ อักษรอาลักษณ์ อักษรลายมือ อักษรไทยริบบิ้น อักษรไทยมาตรฐาน อักษรไทยเสมือนละติน และ อักษรประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้: บทความนี้มีประโยชน์สำหรับผู้สนใจงานด้านการออกแบบชุดตัวอักษร ประวัติศาสตร์การออกแบบ และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถนำไปต่อยอดในงานสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ การสื่อสารการตลาด และการจัดการฐานข้อมูล

คำสำคัญ: ความเชื่อมโยงของชุดตัวอักษรไทย การสร้างรูปอักษรไทย วิวัฒนาการของชุดตัวอักษร ฟอนต์ไทย

Abstract

Objectives: This academic article describes the connection of Thai typeface in the context of evolution and letter formation. It is for classifying the categories of Thai typeface. Methods: Studying the Thai typeface from documents and historical evidence. Categorize the typeface from the letter formation techniques in each era. Then analyze and synthesize the connection of each typeface category. Results: It was found that, In the late Ayutthaya period, Letter structure became like the current Thai script. After then, it was developed into a variety of Thai typeface. The characteristics of the Thai typeface can be divided according to the evolution and letter formation into seven typologies for instance 1) Ancient-Like Thai 2) Arluck 3) Handwriting 4) Thai Ribbon 5) Standard Thai 6) Latin-Like Thai and 7) Decoration. Application of this study: This article is useful for those interested in typeface design, design history and local wisdom. It can be further developed in creative works, branding, marketing communications and database management.

Keyword: The Connection of Thai Typeface, Letter Formation, Evolution of Typeface, Thai font

บทนำ

ตัวอักษรเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมและชนชาติ ตัวอักษรล้วนมีการพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงค่านิยมของผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้ หลายแหล่งข้อมูลเชื่อว่าอักษรไทยเกิดขึ้นมาในสมัยสุโขทัย ต่อมาได้วิวัฒนาการเปลี่ยนรูปอักษรจนมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน ซึ่งมีชุดตัวอักษรมากมายหลายรูปแบบ จึงเป็นการยากสำหรับคนปัจจุบันในการสืบสาวที่มาที่ไปถึงต้นตอของแรงบันดาลใจในการสร้าง รูปอักษรไทยในปัจจุบัน บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลด้านประวัติความเป็นมาของชุดตัวอักษรไทยจากเอกสาร หนังสือ บทสัมภาษณ์ บทความวิชาการและงานวิจัย แล้วนำมาประมวลผล เพื่อหาความเชื่อมโยงของชุดตัวอักษรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในบริบทของวิวัฒนาการและการสร้างรูปอักษร โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบชุดอักษร และเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอักษรไทยในอนาคต

อักษรโบราณ สู่อักษรไทยเสมือนโบราณ

พื้นที่ประเทศไทยในอดีตเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณหลายแห่ง มีปรากฏหลักฐานเป็นอักษรหลายรูปแบบบนแผ่นหินและวัตถุพื้นผิวแข็งต่าง ๆ เริ่มจากอักษรปัลลวะจากวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่เผยแพร่ในพื้นที่อุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต ต่อมามีการพัฒนารูปแบบเป็นอักษรหลังปัลลวะ แล้ววิวัฒนาการเป็นอักษรมอญโบราณและอักษรเขมรโบราณสมัยพระนคร โดยอักษรมอญโบราณถูกใช้ในอาณาจักรพุกาม ก่อนเผยแพร่มายังอาณาจักรหริภุญไชยในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของอักษรธรรมล้านนา หรือ ตัวเมือง และอักษรธรรมอีสาน (Bureau of Culture, Sports and Tourism Bangkok, 2014a : 43, 45-46)

อักษรเขมรโบราณ บางเอกสารเรียกว่า อักษรขอมโบราณ ถูกพบในบริเวณที่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรพระนคร หรือ ยโศธรปุระ (ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อของนครวัด ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 กำธร สถิรกุล Sathirakul (1972 : 37) ลักษณะสำคัญของอักษรขอมโบราณคือ 1) มีความบรรเจิดบรรจงกว่าของอินเดียโบราณ 2) ปรับรูปอักษรจากกลมให้เหลี่ยมขึ้น เพื่อเหมาะสำหรับสลักบนหิน 3) มีการพัฒนาบริเวณบ่าอักษรเป็นศก หรือ หนามเตย ให้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่อักษรมอญโบราณนั้นไม่มี (Pakdeekham, 2019 : 107) ภายหลังยุคเขมรโบราณหลังเมืองพระนคร ได้พัฒนารูปแบบเป็นอักษรขอมไทย (Pakdeekham, 2019 : 112) ถูกใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองลพบุรีโบราณ (ลวปุระ หรือ ละโว้) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบของอักษรไทยสมัยสุโขทัย (Bureau of Culture, Sports and Tourism Bangkok, 2014b : 46) แล้วแตกแขนงเป็น 1) ตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาตอนต้น และ 2) อักษรฝักขามหรืออักษรไทยล้านนา ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นอักษรไทยน้อย แล้วกลายเป็นอักษรลาวในปัจจุบัน (Bureau of Culture, Sports and Tourism Bangkok, 2014c : 97-98) (Figure 11)

อักษรโบราณในพื้นที่ประเทศไทย ยุคก่อนอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะเป็นเส้นน้ำหนักเดียวค่อนข้างสม่ำเสมอกัน ซึ่งเกิดจากการจารหรือสลักอักขระลงบนวัตถุ ลักษณะโดยรวมของตัวอักษรออกมาทางโค้งมนมากกว่าเหลี่ยมตรง มีหัวเฉพาะบางตัวอักษร รูปอักษรลักษณะนี้คาดว่าพัฒนาจากข้อจำกัดในการจารอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนในลานที่มีเส้นใยเรียงเป็นแนวนอน ดังนั้นจึงต้องจารอักษรให้มีลักษณะกลม เพื่อป้องกันใบลานฉีกขาด (Usakulwatana, 2015 : 52) ซึ่งสมุดใบลานเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในอาณาจักรต่าง ๆ ในทวีปเอเชียมาตั้งแต่โบราณ ภิกษุชาวล้านนาได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาแล้วนำคัมภีร์พระไตรปิฎกที่จารลงบนใบลานกลับมาในท้องถิ่นของตน ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีเป็นต้นมา (Bureau of Culture, Sports and Tourism Bangkok, 2014d : 44) ดังนั้นแบบอักษรที่จารึกลงบนแผ่นศิลา จึงมีลักษณะกลมตามแบบอักษรที่จารบนใบลาน

รูปลักษณ์ของตัวอักษรโบราณแตกต่างจากตัวอักษรไทยในปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการยากสำหรับคนในปัจจุบันที่จะอ่านหรือใช้งานตัวอักษรแบบนี้ อย่างไรก็ตามได้มีการนำลักษณะเฉพาะและรูปแบบการเดินเส้นของอักษรโบราณมาปรับปรุงใหม่เป็นอักษรไทยเสมือนโบราณ หรือ อักษรไทยโบราณประยุกต์ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันและสามารถสื่อสารถึงความเป็นท้องถิ่นในอดีต เช่น FT Meueng BL อักษรไทยเสมือนอักษรธรรมล้านนา ออกแบบโดย รัชภูมิ ปัญส่งเสริม และ MN Sila อักษรไทยเสมือนอักษรสุโขทัย ออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร (Figure 1)

 

อักษรอาลักษณ์ สู่อักษรลายมือ

อักษรไทยในราชสำนักอยุธยาตอนปลาย มีรูปแบบใกล้เคียงกับตัวอักษรไทยปัจจุบัน ตัวอักษรถูกเขียนด้วยอุปกรณ์แบบตะวันตก มีการออกแบบวิธีการจดปากกาและตวัดปลายจบออกเพื่อไม่ให้หมึกซึมออกมา (Sapruengnam, 2016 : 149) มักจารลง บนวัสดุที่มีเนื้ออ่อนและบาง เช่น แผ่นเหล็ก แผ่นทอง แผ่นดีบุก และแผ่นไม้ (Weeraprajak, 1983 : 26) ในกรณีที่เป็นกระดาษเพลา สมุดไทย และกระดาษฝรั่ง (Laksanasiri, 2011 : 14) จะใช้ปากกาขนนกเขียนด้วยหมึกที่ผสมด้วยสีและแร่ต่างๆ (Charoensiriphan, n.d.) ทำให้เกิดความคล่องตัวในการจดลายลักษณ์อักษร รวมถึงสร้างความประณีบรรจงและพิถีพิถัน ในการเขียน (Weeraprajak, 1983 : 26) เริ่มแรกนั้นตัวอักษรเอนไปข้างหลังตามธรรมชาติของการเขียนด้วยมือ อักขระพยัญชนะ และสระบางคู่มีการเชื่อมชิดติดกัน คาดว่าได้อิทธิพลมาจากการเขียนอักษรด้วยปากกาขนนก (Quill) และพู่กันหนวดหนู ตามอย่างการเขียนแบบตะวันตก (Figure 2) ต่อมามีการพัฒนารูปแบบให้ตัวตั้งตรงขึ้น อักขระพยัญชนะและสระแยกจากกัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ Prince Damrong Rajanubhab (1962 : 249-250) แบ่งตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) ตัวประจง หรือ ตัวบรรจง (Bun-Chong) ใช้ในพิธีกรรมและเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก การปกครองและศาสนา เป็นการเขียนตามระเบียบแบบแผน แม้คนเขียนเป็นคนละคนกัน แต่ลักษณะรูปอักษรนั้นยังคงเหมือนกันตามยุคสมัย 2) ตัวย่อ หรือ ตัวไทยย่อ (Thai-Yor) เป็นตัวอักษรที่ประดิษฐ์ให้เกิดลวดลายเพื่อ อวดฝีมือ และ 3) ตัวหวัด (Wad) เป็นลักษณะรูปอักษรที่เขียนให้เร็ว ซึ่งลักษณะสำคัญของตัวหวัดคือ อักษรเอียงไปทางขวา ตามธรรมชาติของการเขียนอย่างรวดเร็ว หัวของตัวอักษรถูกลดทอนจนกลายเป็นขีดหรือทำให้ไม่มีหัว อาจเพราะช่วยย่นระยะเวลาในการเขียน อย่างไรก็ตาม อักษรตัวหวัดในเอกสารโบราณหลายฉบับมีความเป็นระเบียบแบบแผน คล้ายการเขียนตัวอักษรละตินแบบ Cursive Script ของชาวตะวันตก (Figure 3) ซึ่งแตกต่างกับอักษรหวัดในบริบทปัจจุบัน ที่มักสื่อสารถึงตัวอักษรลายมือที่ อ่านยาก ไม่เป็นระเบียบ

อักษรเหล่านี้บางส่วนเขียนโดย “เสมียนอาลักษณ์” (Seides, 1961 : 33) ผู้ชำนาญในด้านการเขียนหนังสือ มีหน้าที่คัดลอกและจดบันทึกเอกสารของราชสำนัก จึงเรียกว่า อักษรอาลักษณ์ หรือ ตัวอาลักษณ์ แต่ผู้เขียนอักษรอาลักษณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอาลักษณ์เสมอไป อาจเป็นเจ้านาย ข้าราชการ รวมถึงพระภิกษุก็ได้ อักษรอาลักษณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีทั้งแบบตัวบรรจง ตัวย่อ และตัวหวัด แต่ในบริบทปัจจุบัน มักหมายถึง ตัวบรรจง เนื่องจากยังถูกใช้ในงานราชการ และมีการสอนตามสถาบันการศึกษาในรูปแบบของการคัดลายมือ โดย เปลื้อง ณ นคร (1976 : 60-61 อ้างถึงใน เพ็ญศรี วงศ์ไวโรจน์ Wongwairot, 1996 : 7-9) แบ่งประเภทการคัดลายมือออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขียนตัวบรรจง สำหรับใช้เป็นพื้นฐานการเขียนตัวอาลักษณ์ ซึ่งใช้ในราชการ 2) เขียนหวัดแกมบรรจง เป็นการเขียนตามถนัดด้วยความเร็ว แต่ยังต้องเขียนให้เป็นตัว และ 3) เขียนหวัด เป็นการเขียนอย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้ความประณีตและความชัดเจน เป็นการเขียนสำหรับตัวเองอ่าน

ในขณะที่อักษรอาลักษณ์แบบตัวย่อได้คลายความนิยมลงในช่วงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ อาจเพราะเป็นอักษรที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ และต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์รูปอักษรนาน ประกอบกับการเข้ามาของระบบการเรียงพิมพ์ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องจารหรือจารึกตัวหนังสือทีละตัว (Laksanasiri, 2011 : 40) ส่วนอักษรอาลักษณ์แบบตัวหวัดนั้น กลายเป็นรูปแบบการเขียนเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผน ซึ่งสามารถเขียนได้หลากหลายรูปแบบ

เดิมทีอักษรอาลักษณ์มีใช้กันเฉพาะในราชสำนัก ราชการและแวดวงศาสนา ต่อมาเมื่อองค์ความรู้ด้านการเขียนมี การถ่ายทอดสู่สามัญชนคนธรรมดา รูปแบบการเขียนอักษรอาลักษณ์จึงคลี่คลาย กลายเป็นอักษรลายมือ (Handwriting) ที่ลด ความเป็นทางการและระเบียบแบบแผนลงไป อักษรลายมือบางรูปแบบดูมีความเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย และบางรูปแบบถูกปรับตามค่านิยมของผู้คนในช่วงเวลานั้น โดยแบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กลุ่มอักษรลายมือบรรจง 2) กลุ่มอักษรลายมือหวัดแกมบรรจง 2) กลุ่มอักษรลายมือหวัด และ 4) กลุ่มอักษรลายมือวิจิตร

 

อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจง สู่อักษรไทยมาตรฐาน

ตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์มีลักษณะอ่อนช้อยและเป็นระเบียบในเวลาเดียวกัน ต่อมา เมื่อระบบการเรียงพิมพ์แพร่มาในพื้นที่อุษาคเนย์ อักษรไทยจึงได้รับการปรับรูปแบบให้มีความเป็นระเบียบแบบแผน รายละเอียดของการตวัดปลายอักษรถูกลดทอนลงไป เพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการเรียงพิมพ์ ตัวพิมพ์ไทยยุคแรกเป็นของตัวพิมพ์ของนางจัดสัน (Ann Hasseltine Judson) และนายยอร์ช ฮัฟ (George H. Hough) เกิดจากการถอดแบบมาจากลายมือลูกหลานชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปย่างกุ้ง ตั้งแต่คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 (Sukphanit, 1965 : 4) ตัวอักษรมีลักษณะเอนไปข้างหลัง เส้นนอนบนของตัวอักษร เป็นมุมเหลี่ยมแทนที่จะโค้ง กำธร สถิรกุล Sathirakul (1972 : 78) เรียกตัวพิมพ์ลักษณะนี้ว่า ตัวเหลี่ยม

ปี พ.ศ. 2345 หมอบรัดเลและคณะได้พัฒนาตัวพิมพ์ไทยของตนเองสำเร็จ (Working group for the history of printing in Thailand, 2022 : 38) พยัญชนะของตัวอักษรชุดนี้ถูกปรับให้ตั้งตรง คาดว่าเป็นข้อจำกัดทางการผลิตและเทคนิคการพิมพ์สมัยนั้น หรืออาจเพราะนำกรอบแนวคิดของตัวพิมพ์อักษรโรมันมาใช้ โดยตัวอักษรตั้งตรงและมีเส้นตั้งเป็นตัวกำหนดโครงสร้างอักษร (Suweeranon, 2005 : 165) ต่อมาได้พัฒนาตัวพิมพ์บรัดเลโค้ง ให้เส้นนอนบนของตัวอักษรมีความโค้งมน ซึ่งโครงสร้างตัวอักษรแบบตั้งตรงของตัวพิมพ์บรัดเลทั้งสองแบบ ถูกสืบทอดถึงตัวพิมพ์ไทยรุ่นหลังในเวลาต่อมา ปี พ.ศ. 2456 โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้เผยแพร่ตัวพิมพ์ฝรั่งเศส (Farang Ses) หรือ ฝ.ศ. (For Sor) ลักษณะเด่นของตัวพิมพ์นี้คือ เส้นอักษรเลียนแบบจากการเขียนด้วยปากกาคอแร้งที่เขียนลงบนกระดาษ ตัวหนังสือมีส่วนนํ้าหนักเส้นหนักเบา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวอักษรโรมัน (Suweeranon, 2002 : 68) มีระบบการประกอบรูปอักษร 2 ลักษณะคือ การเดินเส้นแบบการเขียน และมีโครงสร้างอักษรแบบแยกชิ้น (Sapruengnam, 2016: 149) เห็นได้ว่าตัวพิมพ์ทั้งสองแบบได้พัฒนารูปแบบตัวอักษรตามข้อจำกัดของการพิมพ์และการสร้างรูปอักษรตามแบบตะวันตก

ปลายรัชกาลที่ 7 เกิดตัวพิมพ์แบบ “โป้ง” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้พาดหัวสำหรับการพิมพ์ที่ต้องการใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะเฉพาะของตัวพิมพ์แบบนี้คือ มีเส้นตั้งหนาและเส้นนอนบาง ตัวพิมพ์แบบโป้งที่โดดเด่น ได้แก่ 1) โป้งแซ มีจุด ที่น่าสนใจคือ หัวอักษรซึ่งเป็นวงกลมทึบ และมีคอที่ยื่นยาวออกมา (Suweeranon, 2002 : 96) 2) โป้งไม้ เป็นชุดตัวอักษร ที่มีน้ำหนักมาก ขา หรือ เส้นตั้งมีความหนาเป็นพิเศษ ขัดแย้งกับเส้นนอน เส้นทแยงและเส้นม้วนของหัวตัวอักษรที่บางมาก และมีปลายมน หัวมีรูปร่างเหมือนวงกลมครึ่งซีก คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากตัวพิมพ์แบบ Fat face และ Bodoni (Suweeranon, 2002 : 96) และ 3) โป้งใหม่ เป็นตัวพิมพ์ที่พัฒนามาจากโป้งไม้ ถูกปรับให้มีความโปร่งขึ้น (Suweeranon, 2002 : 96) มีสรีระโดยรวมเป็นเหลี่ยมตรง ซึ่งปริญญา โรจน์อารยานนท์ Rojarayanond (2012) เรียกตัวอักษรโป้งใหม่ว่า “โป้งรอง” เพื่อป้องกัน การสับสนกับตัวอักษรโป้งไม้ ที่มีชื่อ Pong Mai คล้ายกัน เมื่อพิมพ์ด้วยอักษรละติน

ช่วงปี พ.ศ. 2500-2505 บริษัท ไทยวัฒนาพานิช ร่วมมือกับ บริษัท โมโนไทป์ พัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทยสำหรับ เครื่องเรียงพิมพ์อัตโนมัติ ชื่อตัวอักษรโมโนไทป์ หรือ Thai Medium 621 เป็นตัวพิมพ์ที่มีรูปอักษรอิงจากการเขียนจริง ที่มีการเก็บมุมข้อต่อแบบโค้ง ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของแบบตัวอักษรไทย แต่มีเส้นที่เรียบง่ายทันยุคทันสมัย (Sapruengnam, 2016 : 51) มีเส้นอักษรสม่ำเสมอ ปลายเส้นตัดตรง ช่วยให้ทำให้อ่านง่าย (Suweeranon, 2002 : 101) ต่อมา ทองเติม เสมรสุต ได้ออกแบบตัวพิมพ์ทอมไลท์ หรือ Tom Light สำหรับใช้งานในระบบการพิมพ์แบบโฟโต้ไทป์เซตติ้ง มีการลดทอนองค์ประกอบของอักษรไทยให้เหลือเพียงเส้นและรูปทรงเชิงเรขาคณิตขั้นพื้นฐาน เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และ วงกลม ทำให้มีบุคลิกแบบสมัยใหม่ (Suweeranon, 2002 : 104) นอกจากนั้น มีการนำตัดปลายจบแบบตรงตั้งฉากเข้ามาใช้ การต่อและหักมุมแบบเหลี่ยมคมชัดเจน (Sapruengnam, 2016 : 51) และมีหัวกลม

ตัวอักษรไทยรุ่นใหม่ในยุคต่อมามีการพัฒนาโครงสร้างและหัวอักษรออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น หัวกลม หัวเปิดขมวดปม หัวครึ่งวงกลม หัวเปิด (Rojarayanond, 2008) หัวบอด หัวเหลี่ยม หัวบัว หัววงรี หัวเชิง เป็นต้น จึงเกิดความกังวลเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของชุดตัวอักษร ดังนั้นได้มีความพยายามกำหนดหมวดหมู่และรูปแบบมาตรฐานโครงสร้างตัวพิมพ์ไทยขึ้นมา ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นเสมอ ตั้งแต่ยุคการพิมพ์เรียง มาจนถึงปัจจุบันที่ตัวพิมพ์แบบดั้งเดิมถูกแปรสภาพเป็นตัวพิมพ์ดิจิทัล หรือ ฟอนต์ เริ่มจากอนุกรรมการพัฒนาตัวพิมพ์ไทย พ.ศ. 2517 หลักเกณฑ์โครงสร้างของตัวอักษรไทย พ.ศ. 2533 และมาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540 ซึ่งคุณลักษณะของโครงสร้างมาตรฐานตัวอักษรไทยแบบหลัก คือ มีหัวกลมและเส้นอักษรมีน้ำหนักสม่ำเสมอกัน โดยอ้างอิงรูปแบบมาจากเทคนิคการจารหรือเขียนอักษรบนพื้นผิววัตถุ ส่วนแบบที่แตกต่างจากตัวแบบหลักเล็กน้อย เช่น เส้นอักษรมีน้ำหนักหนาบางแบบตัวฝรั่งเศส นับว่าเป็นแบบเลือก ส่วนตัวอักษรที่มีลักษณะแตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ตัวประดิษฐ์ ตัวหวัด ตัวหวัดแกมบรรจง ถือว่าเป็นตัวนอกแบบ (Royal Academy, 1997 : 3)

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า มาตรฐานตัวอักษรไทย หรือ อักษรไทยมาตรฐาน คือ ชุดตัวอักษรไทยแบบมีหัวที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับใช้เป็นตัวเนื้อความ มีสัดส่วนหรือองค์ประกอบอักษรที่ชัดเจน ไม่กำกวมสับสนกับอักษรตัวอื่นในชุดเดียวกัน ไม่มีการตกแต่งใส่ลวดลายหรือพื้นผิว เส้นอักษรมีน้ำหนักสม่ำเสมอกันหรือแตกต่างกันเล็กน้อยตามแบบตัวฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม พบว่ารายละเอียดของมาตรฐานโครงสร้างตัวพิมพ์ไทยที่ถูกกำหนดมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงแนวทางสำหรับการเขียนตัวบรรจง และตัวพิมพ์ธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมถึงตัวประดิษฐ์ ตัวเส้นหนา ตัวเส้นบาง ตัวแคบ ตัวกว้าง หรือตัวเอน (Royal Academy, 1997 : 3) ซึ่งเป็นการจำกัดรูปแบบของตัวอักษรเป็นอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนในปัจจุบัน ที่ใช้ตัวอักษรหลายรูปแบบ เช่น ตัวหนา (Bold) และ ตัวเอน (Italic) ในการจัดหน้าเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารของทางราชการและงานด้านวิชาการ

ดังนั้นอักษรไทยมาตรฐานไม่ควรจำกัดแค่ตัวธรรมดา แต่ควรครอบคลุมรูปแบบ (Style) ที่หลากหลาย เช่น ตัวบาง ตัวหนา ตัวเอน ตราบใดที่ยังมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับใช้เป็นตัวอักษรแบบเนื้อความ มีหัวอักษรกลม ม้วน หรือดูเป็นวง เหมาะสมในการอ่านแม้ว่ามีขนาดเล็ก ตามโครงสร้างของตัวเหลี่ยม ตัวบรัดเล ตัวฝรั่งเศส โมโนไทป์ และ ทอมไลท์ ก็นับว่าเป็นอักษรไทยมาตรฐาน ในขณะที่ตัวอักษรที่มีคุณสมบัติเป็นตัวอักษรมีหัวแบบพาดหัว แบบตัวโป้ง เช่น โป้งแซ โป้งไม้ โป้งใหม่ (โป้งรอง) รวมถึงอักษรอาลักษณ์รูปแบบต่าง ๆ และอักษรลายมือ ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มนอกแบบอักษรไทยมาตรฐาน เนื่องจากไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นตัวอักษรแบบเนื้อความในบริบทปัจจุบัน (Figure 4)

เมื่อเปรียบเทียบอักษรไทยมาตรฐานกับกลุ่มตัวอักษรแบบ Traditional หรือ Loop Terminal ของคัดสรรดีมาก Usakulwatana (2015 : 148) ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวอาลักษณ์ (Handwriting) ตัวฝรั่งเศส (Old Style) ตัวโป้ง (Wooden Type) โมโนไทป์ (Humanist) ทอมไลท์ (Geometric) ชวนพิมพ์ (Geometric Humanist) และทองหล่อ (Neo Geometric) พบว่ามีความใกล้เคียงกันด้านโครงสร้างอักษรที่ต้องเป็นตัวอักษรที่มีหัว แต่มีส่วนที่แตกต่างกันคือคุณสมบัติของตัวอักษร ซึ่ง ตัวอาลักษณ์ (Handwriting) และ ตัวโป้ง (Wooden Type) ไม่ควรอยู่กลุ่มอักษรไทยมาตรฐาน เนื่องจากไม่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นตัวเนื้อความในบริบทปัจจุบันและไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นตัวอักษรขนาดเล็ก

จากข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า เมื่อระบบการพิมพ์เข้ามาในประเทศไทย ส่งผลให้รูปอักษรไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จากอักษรอาลักษณ์ที่มีลีลาอ่อนช้อย มาเป็นเรียบง่ายและดูทันสมัย เส้นรอบอักษร (Outline) ที่ไม่ราบเรียบสม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านการผลิตตัวพิมพ์ ถูกปรับให้มีความคมชัดสบายตาขึ้น ด้วยเหตุนี้ อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจงที่เคยถูกใช้เป็นแม่แบบอักษรไทยสำหรับการบันทึกในเอกสาร จึงเปลี่ยนมาเป็นอักษรไทยมาตรฐานตามระบบการพิมพ์ ที่มีความเป็นสากล มากขึ้น โดยที่คุณลักษณะสำคัญของอักษรไทยมาตรฐานคือ ต้องเป็นอักษรไทยมีหัวที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นตัวเนื้อความ

 

อักษรอาลักษณ์ สู่อักษรไทยริบบิ้น

ในช่วงรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงคิดค้นตัวอักษรประดิษฐ์แบบใหม่จำนวนสองรูปแบบ ได้แก่ 1) แบบเส้นอักษรน้ำหนักเดียว (Monoline) และ 2) แบบเส้นอักษรหลายน้ำหนัก (Contrast หรือ Contrasted Weight Line) (Rianthong, 2022 : 198)

แบบเส้นอักษรน้ำหนักเดียว (Monoline) หรือ เส้นสม่ำเสมอ เป็นแบบที่เส้นอักษรมีน้ำหนักสม่ำเสมอในตัวเอง มักถูกเขียนให้มีหัวซ่อนเร้น ไม่มีขมวดกลม ในบางผลงานอาจมีการโยกหรือตวัดปลายของเส้นร่วมด้วย (Rianthong, 2022 : 199)

แบบเส้นอักษรหลายน้ำหนัก (Contrasted Weight Line) หรือเส้นหนาบาง พัฒนามาจากเทคนิคการเขียนอักษรโรมัน (Charoenwong, 2006: 352) ด้วยเครื่องมือที่มีปลายแบน ทำให้เกิดตัวอักษรที่คล้ายการนำริบบิ้นมาจัดวางให้เกิดรูปอักษร จึงเรียกว่า “ตัวอักษรริบบิ้น” แต่ผู้เขียนขอเสนอให้ใช้คำว่า “อักษรไทยริบบิ้น” เพื่อสื่อสารถึงตัวอักษรไทยที่มีเค้าโครงมาจากผลงานของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งแตกต่างจากตัวอักษรวิจิตรแบบตะวันตก (Western Calligraphy) ที่มีลักษณะคล้ายริบบิ้นเหมือนกัน ตัวอักษรไทยริบบิ้นมีลักษณะเฉพาะ คือ 1) มีลักษณะเหมือนถูกเขียนด้วยเครื่องมือที่ส่วนปลายมีลักษณะแบน 2) สามารถเขียนได้ทั้งแบบมีหัวและแบบไม่มีหัว 3) ตัวอักษรแต่ละตัวเกิดจากการลากเส้นทีละเส้นประกอบกัน และ 4) ตัวอักษรมีบุคลิกหลากหลายและขัดแย้งกันในตัวเอง (Rianthong, 2022 : 209)

เทคนิคการเขียนตัวอักษรแบบไทยริบบิ้นถูกพัฒนาเป็นสองแนวทาง ได้แก่ อักษรไทยริบบิ้นแบบไร้หัว และ อักษรไทยริบบิ้นแบบมีหัว

อักษรไทยริบบิ้นแบบไร้หัว หรือ อักษรแบบไทยนริศ แบบของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นอักษรที่มีสัณฐานของอักษรกว้าง ต่อมาได้พัฒนารูปแบบให้สรีระของตัวอักษรออกมาทางเหลี่ยมตรง และสัณฐานแคบลง ตามโครงสร้างอักษรอาลักษณ์ตัวบรรจงสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วต่อยอดเป็นตัวอักษรหัวนก โดยมีการใส่ลีลาด้วยการสะบัดพู่กันที่ปลายจบอักษร (Cadson Demak, 2016 : 150) จากงานวิจัยของ สรรเสริญ เหรียญทอง Rianthong (2022 : 202) พบว่าในปัจจุบันมีอักษรไทยนริศหลายรูปแบบ บางส่วนมีการพัฒนาให้มีสรีระออกมาทางโค้งมน สัณฐานกว้างมากขึ้น

อักษรไทยริบบิ้นแบบมีหัว คาดว่าพัฒนามาจากอักษรไทยย่อ ซึ่งจุไรรัตน์ ลักษณะศิริ Laksanasiri (2011 : 18) กล่าวว่า คำว่า “ย่อ” ในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า ย่อเหลี่ยม อักษรไทยย่อเป็นอักษรบรรจงประดิษฐ์ที่มีการย่อเหลี่ยมหักมุมเส้นอักษรให้งดงาม มีการเล่นลวดลายที่เส้นอักษร โดยบางตัวตวัดปลายเส้นอักษรให้อ่อนโค้งจนเป็นเอกลักษณ์ของไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ Damrong Rajanubhab (1962 : 250) สันนิษฐานว่า อักษรไทยย่อพัฒนามาจากอักษรขอมย่อ ต่อมาพัฒนาไปเป็นแบบตะวันตกตามความนิยมของผู้คนในสมัยนั้น ลักษณะสำคัญของอักษรไทยย่อ คือ พยัญชนะและสระเอนไปทางขวา ทำมุม 50-45 องศา เป็นระเบียบสวยงาม มีสัณฐานเป็นเหลี่ยมและตัวอักษรหักมุมชัดเจน (Laksanasiri, 2011 : 27) ซึ่งตัวอย่างอักษรไทยริบบิ้นแบบมีหัว เช่น ตัวอักษรบนหัวบทประพันธ์เป็นตัวอักษรประกอบ บทสรรเสริญเสือป่า พ.ศ. 2456 (Figure 5)

ในสมัยอยุธยา มักใช้ตัวไทยย่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา เรื่องการฑูตและการค้าขายกับต่างประเทศแต่ใน สมัยรัตนโกสินทร์อักษรไทยย่อถูกลดความสำคัญลงไป ไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณสำคัญ แต่ถูกใช้เป็นชื่อวัด ชื่อสมุดไทย และชื่อที่สลักบนกระบอกปืนใหญ่ (Laksanasiri, 2011 : 37-39) ต่อมาถูกแทนที่ด้วยตัวอักษรไทยริบบิ้น ซึ่งถูกใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ศาสนพิธี และภารกิจราชการที่สำคัญ (Lawrachawee, 2015) จากนั้นได้ถ่ายทอดไปยังกลุ่มช่างศิลป์ แล้วมีผู้นำไปใช้ในงานเชิงพาณิชย์ เหตุที่อักษรไทยริบบิ้นได้รับความนิยม คาดว่าเพราะมีเส้นอักษร ที่หนา สามารถเขียนได้ง่ายและปรับแต่งรูปแบบได้อิสระ แตกต่างจากอักษรอาลักษณ์แบบบรรจงและแบบไทยย่อที่มีเส้นอักษรบาง และต้องเขียนตามแบบแผน

อักษรอาลักษณ์กับอักษรไทยริบบิ้นมีการสร้างรูปอักษรแตกต่างกัน โดยอักษรอาลักษณ์มักใช้การวาดเส้นอักษรทีเดียว จนจบตัวอักษร ในขณะที่อักษรไทยริบบิ้นใช้การวาดเส้นทีละเส้นประกอบกันจนเป็นรูปอักษร แต่ร่องรอยของอักษรอาลักษณ์ ยังปรากฏให้เห็นในแบบตัวอักษรไทยริบบิ้น เช่น การเล่นลวดลายที่เส้นอักษรด้วยการสะบัดเส้นตอนจบอักษร และย่อเหลี่ยม หักมุมแบบอักษรไทยย่อ (Figure 5)


ตัวอักษรประดิษฐ์

อักษรประดิษฐ์ในบริบทของชุดแบบตัวอักษร (Typeface) หมายถึง แบบตัวอักษรที่มีลักษณะแตกต่างกับแบบตัวอักษรไทยมาตรฐาน เป็นแบบตัวอักษรที่ไม่เข้าพวก หรือมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ยากในการจัดหมวดหมู่ ในขณะที่อักษรประดิษฐ์ ในบริบททั่วไป อาจหมายถึง ตัวอักษรที่ถูกประดิษฐ์เฉพาะคำ (Lettering) มีการตกแต่งลวดลาย (Decorative) มีลักษณะเป็นตัวพาดหัว (Display) สร้างด้วยการวาดเส้นรอบตัวอักษร (Outline) และ สร้างด้วยการวาด (Drawing) ซึ่งมีด้วยกันหลายกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มอักษรไทยเสมือนโบราณ (Ancient-Like Thai) อักษรไทยที่ถูกประดิษฐ์ให้มีลักษณะคล้ายกับอักษรโบราณในพื้นที่ประเทศไทย

กลุ่มอักษรไทยย่อ (Thai-yor) อักษรประดิษฐ์ที่มีปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ถูกเขียนด้วยเครื่องมือที่มีปลายแหลมทำให้เส้นอักษรบาง

กลุ่มอักษรไทยริบบิ้นและอักษรริบบิ้น (Thai Ribbon and Ribbon) อักษรประดิษฐ์ที่เกิดจากการเขียนด้วยเครื่องมือ ที่มีปลายแบน ทำให้เส้นอักษรมีความหนาบาง สามารถใช้เขียนตัวอักษรขนาดใหญ่ได้

กลุ่มอักษรที่มีลวดลายหรือพื้นผิว (Textured Typeface) ชุดแบบอักษรไทยมาตรฐานและอักษรรูปแบบอื่นที่ถูกนำไปใส่พื้นผิวหรือลวดลาย หรือลดทอนรายละเอียด (Figure 6)

กลุ่มอักษรพาดหัวแบบมีหัว (Display Loop) ชุดแบบอักษรไทยนอกแบบอักษรไทยมาตรฐาน สำหรับงานพาดหัวขนาดใหญ่ ที่ไม่เหมาะสำหรับใช้งานขนาดเล็ก เช่น อักษรไทยแบบโป้ง โป้งแซ โป้งไม้ โป้งใหม่ (โป้งรอง) รวมถึงอักษรตกแต่งแบบมีหัวที่ใช้ในงานโฆษณาต่าง ๆ

กลุ่มอักษรพาดหัวแบบไร้หัว (Display Loopless) อักษรประดิษฐ์ที่ต่อยอดมาจากตัวอักษรไทยริบบิ้น แต่มีการพัฒนาเทคนิคการใช้แปรงหรือพู่กัน อาจผสมผสานกับการวาดเส้นรอบตัวอักษร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะร่วมสมัยแบบตะวันตก หรือแบบอักษรของต่างชาติ อักษรกลุ่มนี้มักถูกสร้างขึ้นเฉพาะงานและมีตัวอักษรไม่ครบชุด ในช่วงรัชกาลที่ 7 เกิดธุรกิจร้านบล็อก รับออกแบบและสร้างแม่พิมพ์สังกะสี รับจ้างออกแบบวาดตัวอักษรประดิษฐ์ด้วยมือแล้วนำไปทำแม่พิมพ์เพื่อใช้เป็นหัวหนังสือ พาดหัวข่าว ชื่อคอลัมน์ คำบรรยายภาพ สำหรับใช้ในงานโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ (Suweeranon, 2002 : 72) ซึ่งงานศิลปะร่วมสมัยแบบตะวันตกมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดและเทคนิคการสร้างสรรค์ของช่างศิลป์ในยุคนี้ เช่น เหม เวชกร ได้ศึกษารูปแบบงานศิลปะในตำราฝรั่ง และเรียนเทคนิคการวาดรูปแบบฝรั่งผ่านการเรียนทางไปรษณีย์ จากนั้นได้นำรูปแบบการเขียนเหล่านั้น มาปรับปรุงในแบบของตนเอง (Thongpan, 2000 : 151) ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่ประยุกต์ความเป็นไทยกับงานศิลปะแบบร่วมสมัยเข้าด้วยกันตามความนิยมในแต่ละช่วงเวลา

กลุ่มอักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ (Other Alphabet-Like Thai) ตัวอักษรไทยที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับชุดตัวอักษรต่างประเทศ เช่น อักษรไทยเสมือนละติน อักษรไทยเสมือนจีน อักษรไทยเสมือนญี่ปุ่น อักษรไทยเสมือนอินเดีย ตัวอย่างอักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ ได้แก่ หัวหนังสือ Court ข่าวราชการ พ.ศ. 2466 ถูกทำให้คล้ายอักษรละติน หัวหนังสือผู้ล้างแค้น พ.ศ. 2516 ถูกทำให้มีลักษณะคล้ายอักษรจีน และ ชินอุลตร้าแมน พ.ศ. 2566 ถูกทำให้มีลักษณะคล้ายอักษรญี่ปุ่น เป็นต้น (Figure 7)

กลุ่มอักษรไทยเสมือนละติน (Latin-Like Thai ) หรือ อักษรไทยเสมือนโรมัน (Roman-Like Thai) อักษรประดิษฐ์รูปแบบหนึ่งที่ถูกออกแบบโดยใช้เค้าโครงหรือองค์ประกอบของตัวอักษรละติน ทำให้ได้อักษรรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอักษรไทยปกติ แต่ก็ยังสามารถคาดเดาได้ว่าเป็นอักษรไทย ชื่อภาษาอังกฤษสามารถเขียนได้หลายแบบ เช่น Roman-Like Thai Typeface (Punsongserm, 2012), Latin Looking Thai Typeface และ Latin Look alike Thai Typeface (Weygandt, n.d.), Thai Latinized Typeface (Kosolkarn, 2021) และ Latinisation (Michell, 2014) เป็นต้น แต่ในบทความนี้เรียกว่า Latin-Like Thai Typeface เริ่มแรกอักษรไทยเสมือนละตินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ แต่เนื่องจากมีความนิยมการใช้งานอักษรประเภทนี้เป็นอย่างมาก จึงถูกแยกกลุ่มออกมา ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ธุรกิจหนังสือพิมพ์เริ่มถือกำเนิดขึ้น มีการออกแบบชื่อหัวหนังสือพิมพ์ภาษาไทยให้มีลักษณะคล้ายอักษรละติน ทำให้เกิดเป็นตัวอักษรไทยแบบหัวเชิงที่นำเอาส่วนที่เป็นเชิง (Serif) หรือส่วนปลายเส้นอักษร (Terminal) แบบอักษรละติน มาปรับเป็นหัวของตัวอักษรไทย เช่น หัวหนังสือวชิรญาณ พ.ศ. 2432 ถูกทำให้คล้ายอักษรละตินแบบโกธิค, หัวหนังสือสยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ พ.ศ. 2446 ถูกทำให้คล้ายอักษรละตินแบบ Victorian, หัวหนังสือจีนโนสยามวารศัพท์ พ.ศ. 2450 ถูกทำให้คล้ายอักษรละตินแบบ Circus Art และหัวหนังสือสยามราษฎร์ พ.ศ. 2477 ถูกทำให้คล้ายอักษรละตินแบบโกธิค เป็นต้น (Figure 8) หลังจากนั้นได้เกิดอักษรไทยหัวเชิงรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมากที่อ้างอิงรูปแบบจากเชิง (Serif) ของอักษรละติน (Figure 9)

ปี พ.ศ. 2516 ตัวอักษรลอกภาษาไทย ชุด มานพติก้า ของ มานพ ศรีสมพร ถูกวางจำหน่าย ตัวอักษรชุดนี้พัฒนามาจากชุดตัวอักษร Helvetica อักษรละตินแบบ Sans Serif โดยการลดรูปลักษณ์ของตัวอักษรไทยแต่ละตัวให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนเหลือเพียงโครงสร้างของตัวอักษรนั้น ๆ (Suweeranon, 2005 : 172) ตัวอักษรลักษณะนี้ได้รับความนิยมมากอย่างมาก ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการอ่านภาษาไทยและแนวทางการออกแบบตัวอักษรไทยในปัจจุบัน (Rattavisit, 2009 : 50) จนถูกเรียกว่า อักษรไทยสมัยใหม่ (Modern)

ตัวอักษรประดิษฐ์ถูกพัฒนารูปแบบอย่างอิสระด้วยการตกแต่งตัดทอนเสริมเพิ่มรายละเอียดของตัวอักษรโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับโครงสร้างตัวอักษรแบบตัวอาลักษณ์หรือความเป็นระเบียบแบบตัวพิมพ์เรียง ทำให้แบบตัวอักษรมีความหลากหลาย สามารถทำได้ทั้งแบบมีหัว แบบไม่มีหัว แบบหัวทางเลือก และแบบหัวเชิง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาและการออกแบบชุดตัวอักษรไทย ให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับชุดตัวอักษรต่างประเทศ ตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น จนกลายเป็นอักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าช่างศิลป์และนักออกแบบไทยมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบรูปอักษรให้สอดคล้องกับรูปอักษรหรืองานศิลปะของวัฒนธรรมอื่นได้ แล้วคนไทยก็มีจินตนาการและความเปิดกว้างยอมรับความหลากหลาย

เดิมทีนั้น อักษรไทยเสมือนละติน มักถูกนักออกแบบจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของอักษรประดิษฐ์ เนื่องจากไม่มีหัวม้วนแบบตัวอักษรไทยมาตรฐานและไม่เข้าพวกกับอักษรกลุ่มอื่น ต่อมาเมื่ออักษรไทยเสมือนละตินแบบไร้เชิง (Sans-serif) ได้รับความนิยม ในหมู่นักออกแบบและเจ้าของธุรกิจ ถึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดอักษรไทยไร้หัว หรือ อักษรไทยสมัยใหม่ ในขณะที่อักษรไทยเสมือนตัวละตินหัวเชิงแบบอื่น ๆ มักถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ตัวอักษรประดิษฐ์

 

อักษรไทยไร้หัว สู่อักษรไทยสมัยใหม่

หัวเป็นลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของอักษรไทย ซึ่งหัวของอักษรไทยเพิ่งมีปรากฏเด่นชัดและถูกใช้จนเป็นแบบแผนในช่วงอยุธยาตอนปลาย ในรูปแบบของตัวอาลักษณ์ จนกลายเป็นต้นแบบในการกำหนดมาตรฐานตัวพิมพ์ไทยในเวลาต่อมา ในขณะที่รูปแบบการเขียนอักษรไทยไร้หัวถูกพัฒนาขึ้นควบคู่กันไปในทิศทางที่อิสระและหลากหลายกว่า โดยไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมที่เป็นแบบแผน ซึ่งอักษรไทยไร้หัวเป็นตัวอักษรที่ลดทอนรายละเอียดของหัวออกไป จนเหลือเพียงเค้าโครงที่พอให้รู้ว่าเป็นหัว

รัชภูมิ ปัญส่งเสริม Punsongserm (2012 : 127-128) กล่าวว่าอักษรไทยไร้หัวกลุ่มแรก เกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2515 จากตัวพิมพ์แบบตัวขูด (dry-transfer) ชุด มานพติก้า ส่วน พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ Suksumek (2019, December 13) นำเสนอว่า อักษรไทยไร้หัวกลุ่มแรก คืออักษรไทยเสมือนละติน เช่น หัวเอกสารราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ. 2451 ซึ่งมีลักษณะคล้ายอักษรละตินแบบ Blackletter แต่จากการค้นคว้าทำให้ทราบว่า อักษรไทยไร้หัวกลุ่มแรกคือ อักษรอาลักษณ์แบบหวัด คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากเทคนิคการเขียนอักษรแบบ Cursive Script ของชาวตะวันตก เช่น หนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษา กรมการเมืองตะนาวศรีอนุญาตให้พ่อค้าชาวเดนมาร์กเข้ามาค้าขายยังประเทศไทย พ.ศ. 2165 และ หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึง เมอร์สิเออร์ เดอ ลายี พ.ศ. 2230 (Figure 3)

อักษรไทยไร้หัวกลุ่มที่สอง อักษรลายมือแบบไร้หัว พัฒนามาจากอักษรอาลักษณ์แบบหวัด กลุ่มที่สาม อักษรแบบไทยริบบิ้น ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยคาดว่าพัฒนามาจากการเขียนอักษรแบบตะวันตก ต่อมาพัฒนาเป็นตัวอักษรหัวนก กลุ่มที่สี่ อักษรประดิษฐ์แบบไร้หัว เหล่าช่างศิลป์พัฒนาและต่อยอดมาจากตัวอักษรแบบไทยริบบิ้น แต่มีการพัฒนาเทคนิคการใช้แปรงหรือพู่กัน ผสมผสานกับการวาดเส้นรอบตัวอักษร กลุ่มที่ห้า อักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ ตัวอักษรไทยที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับชุดตัวอักษรต่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่าอักษรไทยไร้หัว กลุ่มที่หนึ่งถึงกลุ่มที่ห้า ได้แก่ อักษรอาลักษณ์แบบหวัด อักษรลายมือแบบไร้หัว อักษรไทยริบบิ้น อักษรประดิษฐ์แบบไร้หัว และ อักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศ ล้วนได้รับอิทธิพลด้านเทคนิคการเขียนอักษรจากต่างประเทศ แล้วพัฒนารูปแบบตามข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ จนเกิดเป็นแนวทางของตนเอง โดยในช่วงแรกถูกใช้เป็นตัวเขียน และพัฒนาเป็นอักษรพาดหัว ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เป็นอักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศทั้งชุดตัวอักษร

อักษรไทยไร้หัว กลุ่มที่หก อักษรไทยเสมือนตัวละตินแบบไร้เชิง หรือ อักษรไทยเสมือนตัวละตินแบบไร้หัว (Sans Serif Based Loopless) หรือ อักษรไทยสมัยใหม่ (Modern) อักษรไทยที่ใช้โครงสร้างของตัวอักษรละตินแบบ Sans serif

ความหมายและลักษณะของ อักษรไทยไร้หัว (Loopless) และอักษรไทยสมัยใหม่ (Modern) นั้นใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกัน อักษรไทยไร้หัว (Loopless) หมายถึง ชุดตัวอักษรไทยที่มีคุณลักษณะไร้หัว ซึ่งเป็นการมองภาพรวมของตัวอักษรในชุดนั้น ๆ ว่า พยัญชนะหรือสระที่มีหัวส่วนใหญ่ลดทอนส่วนที่เป็นหัวออกไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไร้หัวทุกอักษร พยัญชนะและสระบางตัวนั้นยังคงต้องมีส่วนโค้ง ขีด เส้นเชิง ที่เรียกว่า หัวแฝงเร้น (Obscure Loop หรือ Conceal Loop) เพื่อทดแทนคุณลักษณะของหัว และช่วยให้ผู้อ่านไม่สับสนในรูปอักษร มักปรากฏใน ถ ภ ค ด ผ ฝ ว เป็นต้น ซึ่งอักษรไทยไร้หัวครอบคลุมอักษรไทยหลายหลายรูปแบบ เช่น อักษรไทยเสมือนโบราณบางรูปแบบ อักษรอาลักษณ์แบบหวัด ตัวอักษรลายมือแบบไร้หัว อักษรแบบไทยริบบิ้นแบบไร้หัวหรืออักษรไทยนริศ อักษรประดิษฐ์แบบไร้หัว อักษรไทยเสมือนอักษรต่างประเทศบางรูปแบบ และอักษรไทยเสมือนละตินบางรูปแบบ ในขณะที่อักษรไทยสมัยใหม่ (Modern) มักหมายถึง ชุดตัวอักษรไทยที่มีโครงสร้างอักษรอ้างอิงจากตัวอักษรละตินแบบไร้เชิง (Sans Serif) ดังนั้นอักษรไทยไร้หัว (Loopless) จึงเหมาะสำหรับใช้อธิบายรูปแบบหรือคุณสมบัติของตัวอักษร มากกว่าใช้เป็นสิ่งกำหนดหมวดหมู่ของตัวอักษร เพราะมีความหมายที่กว้าง อาจสร้างความสับสนได้ (Figure 10) ซึ่งคุณสมบัติของหัวตัวอักษร (Loop) ต้องมีลักษณะกลม ม้วน หรือดูเป็นวง ถ้าเป็นหัวครึ่งวงกลม หัวบอด หัวเหลี่ยม หัวบัว หัววงรี หัวเชิง หัวรูปทรงต่าง ๆ จะเป็นหัวทางเลือก (Alternative Loop) ถ้าเป็นเส้นโค้ง ขีด หรือไม่ม้วนเป็นวงจะเป็นแบบไร้หัวหรือหัวแฝงเร้น (Obscure Loop หรือ Conceal Loop)

 

บทสรุป

รูปแบบโครงสร้างของตัวอักษรไทยมีวิวัฒนาการเรื่อยมาหลายยุคหลายสมัย เริ่มจากอักษรโบราณในพื้นที่อุษาคเนย์ ที่วิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรขอมโบราณหรืออักษรเขมรโบราณสมัยพระนคร อักษรสุโขทัย จนกลายเป็นอักษรอยุธยาตอนต้น (Figure 11) เมื่อถึงช่วงอยุธยาตอนปลาย รูปแบบตัวอักษรถูกพัฒนาเป็นอักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจงและตัวไทยย่อ ซึ่งมีโครงสร้างอักษรใกล้เคียงอักษรไทยปัจจุบัน

อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจงและตัวไทยย่อถูกคลี่คลายความเป็นระเบียบแบบแผน กลายเป็นอักษรอาลักษณ์แบบตัวหวัดและตัวอักษรลายมือ (Figure 12) อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจง ถูกใช้เป็นต้นแบบของชุดตัวอักษรบนตัวพิมพ์ในช่วงเวลาต่อมา เมื่อตัวพิมพ์ไทยมีจำนวนและรูปแบบมากขึ้น จึงมีการกำหนดมาตรฐานตัวพิมพ์ไทยขึ้นมา โดยอ้างอิงตามตัวอักษรไทยแบบเนื้อความที่มีหัว (Figure 13) ในขณะที่อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจงและตัวไทยย่อ ถูกพัฒนาเป็นอักษรไทยริบบิ้น ซึ่งเป็นรากฐานของอักษรไทยเสมือนละติน (Figure 12-13)

รูปแบบตัวอักษรไทยถูกพัฒนาขึ้นจากอิทธิพลของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีภายนอกพื้นที่ เริ่มจากเทคโนโลยีการจาร และจารึกอักษรบนพื้นผิววัตถุของวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่เผยแพร่มายังอุษาคเนย์ ถูกนำมาปรับปรุงเสริมแต่งจนได้รูปอักษรเฉพาะตัว เมื่อถึงช่วงอยุธยาตอนปลาย เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ รูปอักษรไทยถูกพัฒนาตามคุณสมบัติของเครื่องมือการเขียนของชาวตะวันตก ประกอบกับองค์ความรู้ในการผลิตวัสดุพื้นผิวอ่อนสำหรับใช้บันทึกขีดเขียน ช่วยสนับสนุนให้เกิดอักษรอาลักษณ์ที่มีความวิจิตรบรรจง ต่อมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 3 เทคโนโลยีการเรียงพิมพ์แบบตะวันตกถูกถ่ายทอดเข้ามาในสยาม ส่งผลให้รูปอักษรปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เอนเอียงไปทางขวา เป็นตั้งตรง มีความเป็นระเบียบตามแบบตัวพิมพ์ละติน ช่วงรัชกาลที่ 5 เครื่องเขียนแบบตะวันตกและเทคนิคการเขียนอักษรด้วยการลากเส้นทีละเส้นประกอบกัน แบบ Blackletter ถูกถ่ายทอดสู่ราชสำนัก จนมีการสร้างตัวอักษรแบบไทยริบบิ้น จากนั้นเหล่าช่างศิลป์ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ มาใช้สร้างสรรค์งานโดยผสมผสานศิลปะแบบไทยและศิลปะร่วมสมัยแบบตะวันตก แล้วต่อยอดไปเป็นแบบอักษรประดิษฐ์ อักษรไทยเสมือนละติน อักษรไทยเสมือนโบราณ และอักษรลายมือรูปแบบต่าง ๆ

จากการศึกษาข้างต้น ทำให้ค้นพบความเชื่อมโยงของชุดอักษรไทยปัจจุบัน ในบริบทของวิวัฒนาการและการสร้างรูปอักษร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 7 รูปแบบหลัก ดังนี้ อักษรไทยเสมือนโบราณ อักษรอาลักษณ์ อักษรลายมือ อักษรไทยริบบิ้น อักษรไทยมาตรฐาน อักษรไทยเสมือนละติน และ อักษรประดิษฐ์ (Figure 14) ซึ่งอักษรไทยเสมือนโบราณ อักษรอาลักษณ์ อักษรลายมือ อักษรไทยริบบิ้น อักษรไทยมาตรฐาน และ อักษรไทยเสมือนละติน มีจุดกำเนิดจากการสร้างรูปอักษรด้วยการเขียน (Writing) ในขณะที่อักษรประดิษฐ์มักเกิดจากการสร้างรูปอักษรด้วยการวาด (Drawing)

อักษรไทยเสมือนโบราณ ตัวอักษรรูปแบบนี้นำลักษณะเฉพาะและรูปแบบการเดินเส้นของอักษรโบราณในวัฒนธรรมท้องถิ่นบริเวณพื้นที่อุษาคเนย์และประเทศไทย มาปรับปรุงใหม่เป็นอักษรไทย เพื่อสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันและสามารถสื่อสารถึงความเป็นท้องถิ่น อักษรโบราณมีรูปลักษณ์แตกต่างจากตัวอักษรไทยในปัจจุบันอย่างชัดเจน ปรากฏอยู่ในจารึกท้องถิ่นในพื้นที่ของประเทศไทยก่อนยุคอยุธยาตอนปลาย เป็นตัวอักษรที่ปรากฏบนสมุดใบลาน ศิลาจารึก หรือพื้นผิววัสดุต่าง ๆ ได้แก่ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรขอมโบราณหรืออักษรเขมรโบราณสมัยพระนคร อักษรขอมไทย อักษรสุโขทัย อักษรไทยน้อย อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา และอักษรฝักขาม เป็นต้น ตัวอักษรโบราณมีลักษณะเป็นเส้นน้ำหนักเดียว เส้นอักษรค่อนข้างเรียบเสมอกัน ซึ่งเกิดจากการจารหรือสลักอักขระลงบนวัตถุ สรีระโดยรวมของตัวอักษรออกมาทางโค้งมนมากกว่าเหลี่ยมตรง และมักไม่มีหัว

อักษรอาลักษณ์ ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการใช้อย่างแพร่หลายก่อนยุคการเรียงพิมพ์ เป็นแบบ ตัวอักษรไทยในราชสำนัก ซึ่งเนื้อหาที่บันทึกมักเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และศาสนพิธี โครงสร้างอักษรเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์การเขียนแบบตะวันตก แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อักษรตัวบรรจง อักษรไทยย่อ และ อักษรตัวหวัด มีลักษณะเฉพาะคือ เส้นอักษรมีน้ำหนักสม่ำเสมอกัน

อักษรลายมือ ตัวอักษรที่ไม่มีรูปแบบตายตัวชัดเจนแบบตัวอาลักษณ์แบบตัวบรรจงและตัวไทยย่อ มักหมายถึงการเขียนโดยสามัญชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีกำหนดแบบแผนจริงจัง ประกอบไปด้วย 1) ตัวอักษรลายมือบรรจง 2) ตัวอักษรลายมือหวัดแกมบรรจง 3) ตัวอักษรลายมือหวัด และ 4) ตัวอักษรลายมือวิจิตร หรือ Calligraphy ที่โดยมากเป็นการเขียนอักษรตกแต่งตามแบบต่างประเทศ

อักษรไทยริบบิ้น ตัวอักษรประเภทนี้ถูกสร้างโดยเครื่องมือที่มีปลายแบน ด้วยการลากเส้นทีละเส้นประกันจนเป็นรูปอักษร ทำให้เส้นอักษรมีความพลิ้วไหว ตัวอักษรประเภทนี้มี 2 รูปแบบใหญ่คือ แบบเส้นน้ำหนักสม่ำเสมอ มักเกิดจากลากเส้นอักษรพร้อมกับการขยับข้อมือไปตามแนวเส้นอักษร และแบบเส้นหลายน้ำหนัก มักเกิดจากลากเส้นอักษรโดยไม่ขยับข้อมือ ซึ่งแบบเส้นหลายน้ำหนัก มีการต่อยอดออกเป็น 1) ตัวไทยนริศ อักษรแบบไทยริบบิ้นที่ไม่มีหัว 2) ตัวอาลักษณ์ริบบิ้น อักษรอาลักษณ์แบบตัวบรรจงที่ถูกเขียนด้วยเครื่องมือที่มีปลายแบน 3) ตัวอักษรหัวบัวเอียง พัฒนามาจากตัวอาลักษณ์แบบตัวบรรจง 4) ตัวไทยย่อประยุกต์ พัฒนามาจากอักษรอาลักษณ์แบบตัวไทยย่อ และ 5) ตัวหัวนก พัฒนามาจากตัวไทยนริศ

อักษรไทยมาตรฐาน เป็นตัวอักษรที่กำเนิดขึ้นจากเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้เกิดแบบแผนการออกแบบตัวอักษรเพื่อความสะดวกเรียบร้อยในการจัดเรียงตัวพิมพ์ มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับใช้เป็นตัวอักษรแบบเนื้อความ เส้นอักษรมีน้ำหนักสม่ำเสมอกันหรือแตกต่างกันเล็กน้อย สามารถมีรูปแบบชุดตัวอักษรหลากหลาย และต้องมีหัวอักษรกลม ม้วน หรือดูเป็นวง

อักษรไทยเสมือนละติน เป็นตัวอักษรที่ถูกออกแบบโดยลดทอนรายละเอียดหัวของตัวอักษรออกไป ให้มีรูปลักษณ์คล้ายหรือเชื่อมโยงกับตัวอักษรละติน แบ่งเป็นสองกลุ่มใหม่ ได้แก่ กลุ่มแรก อักษรไทยไร้เชิง หรือ อักษรไทยไร้หัว (Sans Serif-based Loopless) หรือ อักษรไทยสมัยใหม่ (Modern) มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Sans Serif กลุ่มที่สอง อักษรไทยหัวเชิง หรือ อักษรไทยหัวขีด (Serif-based loop) อักษรที่นำเอาเชิงหรือขีดของอักษรละตินแบบเซอรีฟ (Serif) มาแปลงเป็นหัว เช่น 1) อักษรไทยหัวเชิงทรานซิชันนอล มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Transitional Serif 2) อักษรไทย หัวเชิงหนา มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Slab Serif 3) อักษรไทยหัวเชิงบาง มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Hairline Serif 4) อักษรไทยหัวเชิงมน มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Rounded Serif 5) อักษรไทย หัวเชิงแหลม มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Wedge Serif และ 6) อักษรไทยหัวเชิงโค้ง มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรละตินรูปแบบ Cursive Serif เป็นต้น

อักษรประดิษฐ์ ชุดตัวอักษรที่มีคุณสมบัติเป็นตัวพาดหัว (Display) หรือถูกสร้างขึ้นโดยนำอักษรไทยเสมือนโบราณ อักษรอาลักษณ์ อักษรลายมือ อักษรไทยริบบิ้น อักษรไทยมาตรฐาน และอักษรไทยแบบเสมือนละติน มาพัฒนาต่อยอดจนเกิดรูปแบบใหม่ เช่น 1) การปรับแต่งหัว (Loop) 2) การปรับรูปแบบการเดินเส้น (Letter formation) 3) การปรับน้ำหนักเส้น (Weight line) 4) การใส่พื้นผิว (Texture) 5) การใส่รายเอียดของจุดสิ้นสุดของเส้นอักษร (Terminal) และ 6) การปรับเส้นรอบอักษร (Outline) หรือ 7) วิธีอื่น ๆ เป็นต้น โดยสามารถแบ่งรูปแบบของอักษรประดิษฐ์ ได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ อักษรประดิษฐ์แบบมีหัว และ อักษรประดิษฐ์แบบไม่มีหัว

 

References

Arquivo Nacional da Torre do Tombo. (2010). Retrieved 20 August 2022, from https://digitarq.arquivos.pt/viewer?id=4185836
CONT-READING. (2021). Retrieved 20 August 2022, from https://cont-reading.com/context/read-backward/
Bureau of Culture, Sports, and Tourism Bangkok. (2014d). Communication with the Thai Alphabet from the years Past to the Present. Bangkok.
Bureau of Culture, Sports, and Tourism Bangkok. (2014a). Thai Script: A 730-Year History. Bangkok.
Bureau of Culture, Sports, and Tourism Bangkok. (2014b). Thai Script: A 730-Year History. Bangkok.
Bureau of Culture, Sports, and Tourism Bangkok. (2014c). Thai Script: A 730-Year History. Bangkok.
Charoensiriphan, P. (n.d.). Khian Akson Sin Boran Lae Anurak Watthanatham Phuen Thin Kap PageAk Sara Roi Wali Likhit. [Write old style calligraphy and preserve local culture with Aksara Roiwalalikit]. Retrieved 20 August 2022, from https://adaymagazine.com/rayong-time-ago-3/ (In Thai)
Charoenwong, S. (2006). Her Royal Highness Prince Krom Phraya Narisaranuwattiwong "Somdej Kru", the master craftsman of Siam. [Prince Naris the master craftsman of Siam]. Bangkok: Matichon. (In Thai)
Damrong Rajanubhab. (1962). San Somdet Lem 22:Laiphrahat Somdet PhrachaoBorom WongThoe Chaofa Kromphraya Narit Na Nu Wat Ti Wong Lae Somdet PhrachaoBorom WongThoe Kromphraya Damrong Rajanubhab. [San Somdet issue 22: The message of prince Naris and prince Rajanuvhab]. Bangkok: Ong Kan Kha Khong Khuru Sapha. (In Thai)
Kosolkarn, K. (2021). Thu Ti Ya Lae Farang Ses Khwamching Nai Khwam Plianplaeng. [The design of Thutiya and Farang Ses typeface]. Retrieved 20 August 2022, from https://www.cadsondemak.com/medias/read/thai-latinized-typeface (In Thai)
Laksanasiri, C. (2011). The Forgotten Compressed Thai Letter. Journal of the Faculty of Arts, Silpakorn University, 33(1), 7–42.
Lawrachawee, S. (2015).Thai Naris Handwriting Script. Retrieved 20 August 2022, from www.santivithee.design/portfolio/thai-naris-handwriting-script/
Michell, B. (2014). Loops and Latinisation. Retrieved 20 August 2022, from https://thaifaces.com/loops-and-latinisation/
Pakdeekham, S. (2019). Lae Lang Kham Khamen-Thai. [The history of Khmer-Thai words]. Bangkok: Matichon. (In Thai)
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007a). Retrieved 20 August 2022, from https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/672 
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007b). Retrieved 20 August 2022, from https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1181
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007c). Retrieved 20 August 2022, from  https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1204
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007d). Retrieved 20 August 2022, from https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/677
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007e). Retrieved 20 August 2022, from https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2885
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (2007f). Retrieved 20 August 2022, from https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1175
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre. (n.d.). Retrieved 20 August 2022, from https://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/th/website/oldbook/subbook/264
Punsongserm, R. (2012). Viewpoint of Using a Roman-like Typeface: Disappearance of Singularity and Legibility. Manutsayasat Wichakan Journal kasetsart university, 19(1), 113 (In Thai)
Rattavisit, P. (2009). Manopsaga. [The story of Manop Srisomporn]. Art4D Magazine, August 09 no. 162 (In Thai)
Rianthong, S. (2022). Developing the Thai-naris handwriting to typeface design. Art and Architecture Journal, Naresuan University, 13(1), 196-210. (In Thai)
Rianthong, S. (2023). Figure1 The comparison of Ancient Script and Ancient-Like Thai Typeface.
Rianthong, S. (2023). Figure 4 Standard Thai typeface and not Standard Thai typeface.
Rianthong, S. (2023). Figure 5Evolution from Arluck Script to Thai Ribbon Typeface.
Rianthong, S. (2023). Figure 6 Standard Thai Typeface (Top) and Decorative Typeface (Bottom).
Rianthong, S. (2023). Figure 9 Latin-Like Thai loop based on Serif.
Rianthong, S. (2023). Figure 10 Thai Loop, Thai Loopless (Obscure or Conceal Loop) and Modern Thai.
Rianthong, S. (2023). Figure 11 The connection between each style of Thai Typefaces: Ancient to Ancient-Like Thai and Arluck.
Rianthong, S. (2023). Figure 12 The connection between each style of Thai Typefaces: Arluck to Handwriting,
Thai Ribbon, Standard Thai and Latin-Like Thai .
Rianthong, S. (2023). Figure 13 The connection between each style of Thai Typefaces: Ancient-Like Thai, Arluck,
Handwriting, Thai Ribbon, Standard Thai and Latin-Like Thai to Decorative.
Rianthong, S. (2023). Figure 14 Seven Typologies of Thai Typeface.
Rojarayanond, P. (2008). DB PorPiang Kan Raboet Khong Chong Wang. [The design of DB PorPieang font]. iDesign Magazine, February 2008 (In Thai)
Rojarayanond, P. (2012). DB Pong Rong Sek Thong Chak Takua. [The design of DB Pong Rong font]. iDesign Magazine, June 2012 (In Thai)
Royal Academy. (1997). Mattrathan Khrong Sang Tua AksonThai: Royal Academy Edition. [The standard anatomy of Thai typeface]. Bangkok: Royal Academy. (In Thai)
Sapruengnam, T. (2016). Chanit Nata Phachoenna Aksorn. [Type Face Face type: a closer look at type and a behind the scene view of how to design fonts]. Bangkok: Cadson Demak. (In Thai)
Sathirakul, K. (1972). Tuanangsue Lae Tuaphim. [Character and Type Face]. Bangkok: Khurusapha ladprao. (In Thai)
Seides, G. (1961). Tamnan AksonThai.[Legend of Thai characters]. Bangkok: Ministry of Education. (In Thai)
Sukphanit, K. (1965). Kamnoet Thaenphim Lae Tuaphim Phasa Thai: Kao Raek Khong Nangsuephim Nai Prathet Thai. [The birth of Thai printing press and types: The first step of newspaper in Thailand]. Bangkok: Thai Phanitchayakan. (In Thai)
Suksumek, P. (2019, December 13). BITS 9 - The Evolution of Thai Loopless (Extended Version) [Video].Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=oco2a4gyyO4
Suweeranon, P. (2002). 10 faces of Thai Type and Thai Nation. Sarakadee Magazine, 17(211). Retrieved 20 August 2022, from https://www.sarakadee.com/feature/2002/09/thaifont_en.htm
Suweeranon, P. (2005). Open types: Samphat Muan Khwamkhit Lae Thitthang Khong Wongkan Okbaep Font Thai. [Open types: Experience the ideas and Trends of Thai font design]. Nonthaburi: Core function. (In Thai)
Thammasat University Library. (n.d.). Retrieved 20 August 2022, from https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:178245
Thammasat University Library. (n.d.). Retrieved 20 August 2022, from https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:178613
Thammasat University Library. (n.d.). Retrieved 20 August 2022, from https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:181053
Thongpan, S. (2000). Hem Wetchakon Chittrakon Rai Sam Nakrian Chang Khian Nok Sathaban. [Hem Wetchakon the master of painter who learn himself]. Sarakadee Magazine, 16(188). Retrieved 20 August 2022, from https://www.sarakadee.com/feature/2000/10/hem.htm (In Thai)
Usakulwatana, P. (2015). Baep Tua akson Ma Chak Nai. 101010: from basic typography to digital font - brief learning on how type works. Cadson Demak (In Thai)
Weeraprajak, K. (1983). 700 years Lai Sue Thai. [700 years Sukhothai script]. Bangkok: Fine Arts Department. (In Thai)
Weygandt, A. (n.d.). Thai look-alike font AW_Siam with English (Latin). Retrieved 20 August 2022, from https://www.weygandt.de/aw_siam/
Wongwairot, P. (1996). Kan Sang Baepfuekhat Khat Laimue Phuea Phatthana Khunnaphap Laimue Khong Nakrian Chan Prathomsueksa Pi Thi 2 Rongrian KhlongSan Ton Nun KrungThep Maha Nakhon [Witthayaniphon Radap Parinyatho]. [Creating handwriting exercises to improve the quality of students' handwriting. Grade 2, Khlong San Ton Nun School, Bangkok]. Bangkok: Srinakharinwirot University. (In Thai)
Working group for the history of printing in Thailand. (2022). Siam Pimpakarn: Prawattisat Kan Phim Nai Prathet Thai. [Siam Pimpakarn: History of Printing in Thailand]. Bangkok: Matichon. (In Thai)