Academic

เส้นเวลาและการเปลี่ยนผ่านของชุมชนในพื้นที่ปากน้ำโพ ก่อนปี พ.ศ. 2500
THE TIMELINE AND CHANGE OF COMMUNITIES IN THE AREA OF PAKNAMPO BEFORE 1957


ผศ.สรรเสริญ เหรียญทอง ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร
Asst. Prof. Sansern Rianthong Department of Communication, Faculty of Business, Economics and Communications Naresuan University
คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร 99 หมู่ 9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
E-mail: zooddooz@gmail.com
ข้อมูลทั้งหมดมาจาก:
เหรียญทอง, ส. (2566). ศิลปะพิกเซลในงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะและการออกแบบ , 2(2), 105–144. Retrieved from https://so07.tci-thaijo.org/index.php/decorativeartsJournal/article/view/2028
Rianthong, S. (2023). The Timeline and Change of Communities in The Area of Paknampo Before 1957. DEC Journal, 2(2), 105–144. Retrieved from https://so07.tci-thaijo.org/index.php/decorativeartsJournal/article/view/2028

บทคัดย่อ

บทความวิชาการชิ้นนี้ นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปี พ.ศ. 2500 เนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองและบทบาทของเมืองในสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ เมืองพระบางในสมัยสุโขทัย เมืองนครสวรรค์ในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การก่อตั้งชุมชนค้าขายบริเวณปากน้ำโพในฝั่งแม่น้ำน่าน สู่การพัฒนาเมืองปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน โดยสรุปการเปลี่ยนผ่านของชุมชนในพื้นที่ปากน้ำโพออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเวลาที่หนึ่ง เริ่มสมัยสุโขทัยและสิ้นสุดสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงเวลาที่สอง เริ่มสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงปี พ.ศ. 2443 และ ช่วงเวลาที่สาม ตั้งแต่ หลังปี พ.ศ. 2443 จนถึง พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ปากน้ำโพในอดีต

คำสำคัญ: ปากน้ำโพ เส้นเวลา การเปลี่ยนผ่านของชุมชน

Abstract

This academic article shows the story of Paknampo area in Nakhonsawan province from the Sukhothai period until 1957. The content covers the settlement and roles of the town in various periods from Phrabang in Sukhothai period, to Nakhonsawan in Ayutthaya period until Rattanakosin period. The beginning of a trading community at Paknampo area on Nan riverside to the development of Paknampo town on Ping riverside and the west side of the Chaophraya river at present. In summary, the change in Paknampo area is divided into three periods. The first period was from the Sukhothai until late Ayutthaya, the second period was from the late Ayutthaya period of King Narai until 1900 and the third period was from after 1900 until 1950. It is for the benefit of studying local history and learning the way of life of the people in Paknampo in the past.

Keyword: Paknampo, Timeline, Change of community

บทนำ

ปากน้ำโพ เป็นเมืองสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่บริเวณปากน้ำโพมีประวัติศาสตร์ยาวนาน จึงมีเรื่องราวและข้อสันนิษฐานมากมายหลายแหล่งที่กล่าวถึงความเป็นมา ตำแหน่งที่ตั้งของเมือง เรื่องราวการย้ายเมือง และที่มาของชื่อเมือง อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งเป็นการกล่าวถึงและให้ข้อมูลโดยที่ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลแหล่งที่มาได้ บทความนี้จึงรวบรวมหลักฐานและเรื่องราวท้องถิ่นของในพื้นที่ปากน้ำโพ จากเอกสารโบราณ พงศาวดาร บทความวิชาการ และงานวิจัย ทำให้ค้นพบเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของชุมชนในพื้นที่ปากน้ำโพ จำนวน 3 ช่วงเวลา ที่เป็นจุดเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่แต่ละยุคสมัย ได้แก่ ช่วงเวลาที่หนึ่ง สมัยสุโขทัย มาจนถึงอยุธยาตอนปลาย มีศูนย์กลางความเจริญอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิง ช่วงเวลาที่สอง สมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงปี พ.ศ. 2443 ก่อนการสร้างทางรถไฟสายลพบุรี-ปากน้ำโพ มีศูนย์กลางความเจริญสองแห่ง ได้แก่ เมืองปากน้ำโพ ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำน่าน และเมืองนครสวรรค์บริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และช่วงเวลาที่สาม ตั้งแต่การเปิดใช้งานสถานีรถไฟปากน้ำโพ จนถึงปี พ.ศ. 2493 ก่อนการเปิดใช้สะพานเดชาติวงศ์ มีศูนย์กลางความเจริญอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิงและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เมืองปากน้ำโพ และพื้นที่รอบข้างศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์

เมืองพระบาง: ที่มาและบทบาทของเมือง

เมืองพระบางเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันการรุกรานจากเมืองทางทิศใต้ของอาณาจักร นอกจากนั้นตำแหน่งของเมืองยังสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ที่สำคัญ 4 อาณาจักร คือ อาณาจักรศรีอยุธยาทางทิศใต้ อาณาจักรพุกามหรือพม่า (หงสาวดี) ทางทิศตะวันตก อาณาจักรสุโขทัย และล้านนา (เชียงใหม่) ทางด้านทิศเหนือ (เจตน์กมล วงษ์ท้าว, 2549: 5) ซึ่งประเสริฐ ณ นคร (2549: 240) สันนิษฐานว่าเมืองพระบางน่าจะอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยมาตั้งแต่ราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมซึ่งครองอาณาจักรนี้อยู่ก่อนราชวงศ์พระร่วง อย่างไรก็ตาม ในตำนานมูลศาสนา มีปรากฏชื่อ เมืองพระบาง ว่าเป็นเมืองที่พระนางจามเทวีเดินผ่าน ขณะที่เดินทางจากละโว้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งอยู่ในปลายสมัยทวารวดี (เจตน์กมล วงษ์ท้าว, 2549: 6) ความหมายของคำว่า “พระบาง” ในปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัด แต่พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า คำว่า “บาง” ในภาษาไทยอาหม แปลว่า รุ่งเรือง (glitter) คาดว่าเป็นคำเดียวกันกับคำว่า “เหมง” หรือ “หมิง” ในภาษาจีน ซึ่งเสียงเดิมอ่านว่า “หมั่ง” หรือ “หม่าง” มีีความหมายว่า รุ่งเรือง เหมือนกัน นอกจากนั้น คำว่า “บาง” ในภาษาไทยอาหมยังแปลว่า หญิงแพสยา แต่บางเมือง แปลว่า เมืองนางฟ้า (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, 2552: 46, 60, 61) อย่างไรก็ตามเมืองพระบาง กับ เมืองหลวงพระบาง เป็นคนละเมือง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เมืองพระบาง ตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ ส่วนเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาว เป็นชื่อใหม่ เดิมทีมีชื่อว่า เมืองชวา หรือ ซวา หรือ ซัว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองเชียงทอง และหลวงพระบาง ตามลำดับ

เมืองพระบางมีปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก ดังนี้

ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ปี พ.ศ. 1835 ด้านที่ 4 แถวที่ 19-20 กล่าวถึงอาณาเขตอันกว้างขวางในสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีเนื้อหาว่า “...เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว...” (สํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์, 2562: 7) แปลความหมายได้ว่า ทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย สะค้า (2 เมืองนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำในประเทศลาว ทางทิศใต้พระองค์ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดน ทางทิศตะวันตก พระองค์ทรงปราบได้เมืองฉอด เมืองหงสาวดี และมีสมุทรเป็นเขตแดน ทางทิศเหนือ พระองค์ทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองพลัว (อ.ปัว จ.น่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดน (ประเสริฐ ณ นคร, 2562: 86)

ศิลาจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม ปี พ.ศ. 1900 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 19 กล่าวถึงว่า หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว อาณาจักรสุโขทัยแตกเป็นเสี่ยง ๆ มีเนื้อหาว่า “เมืองคนที พระบาง หาเป็นขุนหนึ่ง” คือตั้งตัวเป็นเจ้าไม่ขึ้นแก่กัน ส่วนบรรทัดที่ 27 กล่าวถึง “คนทีพระบางกโรมในตีนพิงนี้” คือ พระเจ้าลิไทยได้ขึ้นครองเสวยราชย์ และได้คนทีพระบางอันอยู่เบื้องใต้ที่ปลายแม่น้ำปิงนี้ และบรรทัดที่ 57-58 กล่าวถึง “พระบาทที่จอมเขาเหนือปากพระบาง” มีจารึกไว้ด้วย (ประเสริฐ ณ นคร, 2528: 144)

ศิลาจารึกหลักที่ 8 จารึกวัดเขาสุมนกูฏ จังหวัดสุโขทัย ปี พ.ศ. 1904-1911 ด้านที่ 4 กล่าวถึงเรื่องราวของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) พาไพร่พลจากเมือง “สรหลวงสองแคว (พิษณุโลก) ปากยม (พิจิตร) พระบาง (นครสวรรค์) ชากนราว (บางแห่งเรียก ชากังราว) สุพรรณภาว นครพระชุม (กำแพงเพชร)” มานมัสการพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ เมืองสุโขทัย (ประเสริฐ ณ นคร, 2549: 245)

ศิลาจารึกหลักที่ 11 ที่วัดเขากบ เมืองปากน้ำโพ มีบันทึกว่า พญาบาลเมืองได้เป็นผู้สร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 1962 เพื่ออุทิศบุญกุศลให้พญารามผู้น้อง ซึ่งมาสิ้นพระชนม์ที่เมืองนี้ (มานพ สุวรรณศรี, 2553: 101) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า ศิลาจารึกหลักนี้น่าจะจารึกขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1900-1904 แต่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า น่าจะจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1962 (วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, 13 กุมภาพันธ์ 2550)

 

เมืองพระบาง: ตำแหน่งที่ตั้งของเมือง

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองพระบาง มีหลายข้อสมมติฐาน ดังนี้

ข้อสมมติฐานที่ 1 พระราชนิพนธ์ เที่ยวตามทางรถไฟ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2509: 49) บันทึกว่า “ตัวเมืองพระบางตั้งอยู่บนที่ดอน ตั้งแต่ชายเขาฤาษีลงมาจนถึงวัดหัวเมืองที่ตลาดปากน้ำโพเดี๋ยวนี้ มุมเมืองอยู่ตรงวัดนั้นยังมีเทินดินซึ่งเป็นแนวกำแพงดินเมืองเดิมอยู่เป็นสำคัญ และยังมีวัดร้างอยู่ในเมืองก็หลายวัด”

ข้อสมมติฐานที่ 2 หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 3 (2520: 615) ระบุว่า “เมืองพระบาง ตั้งอยู่ในที่ดอน มีเขตตั้งแต่ชายเขาขาดลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่”

ข้อสมมติฐานที่ 3 เชื่อว่าตั้งอยู่บริเวณบ้านวัดสี่เข่า โดยแหล่งข้อมูลแรก ทิวา ศุภจรรยา (2528: 349) ระบุว่าคือ “ชุมชนโบราณที่เขากบ บริเวณนั้นมีคูน้ำที่เห็นชัดเจนเรียกว่า วัดสี่เข่า หรือ วัดคีรีวงศ์ ซึ่งลงทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478” ส่วนแหล่งข้อมูลที่สอง ระบุว่า วัดสี่เข่า เป็นวัดร้างที่เคยอยู่ในการครอบครองของวัดคีรีวงศ์ ใกล้กับท่ารถของบริษัท ถาวรฟาร์ม (สาระพัน, 18 มิถุนายน 2564) และแหล่งข้อมูลที่สาม กรมศิลปากร (2516: 251) ระบุว่า วัดสี่เข่าเป็นเมืองเก่า มีคันคูขุดถมเป็นกำแพง สูงประมาณ 2 ศอก กว้าง 5 ศอก รูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 4 เส้น กลางเมืองมีมูลดินสูง 6 ศอก กว้างยาว 5 วา มีพระเจดีย์ พระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูน ชำรุดหักอยู่ พระเศียรโตประมาณ 20 กำมือ องค์ไม่มี ที่แห่งนี้เรียกว่า “วัดสี่เข่า” ตามชื่อวัดที่อยู่กลางเมืองพระบาง โดยตัววัดอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากอำเภอเมืองนครสวรรค์ประมาณ 2 กิโลเมตร

ข้อสมมติฐานที่ 4 ระบุว่าตั้งอยู่บริเวณวัดวรนาถบรรพต หรือวัดกบ และพื้นที่รอบกำแพงวัด (ดูภาพ 1) เห็นเป็นคูคันดินรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ขนาดประมาณ 391 x 438 เมตร มีพื้นที่ตั้งแต่เชิงเขาขาดลงมาจรดหลังตลาดปากน้ำโพ ซึ่งคาดว่าบริเวณนี้คือเมืองพระบาง มีวัดเขากบ หรือวัดวรนาถบรรพตซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาเป็นศูนย์กลางของชุมชน (เจตน์กมล วงษ์ท้าว, 2549: 6)

เมื่อพิจารณาจากข้อสันนิษฐานทั้งหมด สรุปได้ว่า พื้นที่ของเมืองพระบางนั้นน่าจะอยู่บริเวณวัดกบ หรือ วัดวรนาถบรรพต และพื้นที่รอบกำแพงวัด ซึ่งในอดีตมีชื่อเรียกว่า วัดสี่เข่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศของ Robert Larimore Pendleton เมื่อปี ค.ศ. 1951 หรือ พ.ศ. 2494 (ดูภาพ 2) จะเห็นแนวคูเมืองกำแพงดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนอย่างเห็นได้ชัด เดิมทีพื้นที่แถบนี้เป็นป่ารกร้าง บางส่วนเป็นที่ทิ้งขยะ ต่อมาผู้คนในตัวตลาดได้เข้ามาจับจองพื้นที่ (นิพันธพงศ์ พุมมา, 2563: 39) ในปัจจุบันพื้นที่รอบวัดวรนาถบรรพตได้กลายเป็นอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่เกือบหมดแล้ว ส่วนคูเมืองเดิมก็ถูกไถกลบกลายเส้นทางสัญจร

 

เมืองนครสวรรค์: ที่มาของเมือง

อาณาจักรอยุธยาพยายามขยายอำนาจการปกครอง โดยได้เข้าแทรกแซงการเมืองของราชสำนักสุโขทัย จากนั้นได้ปกครองเมืองพระบาง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนครสวรรค์

อาณาจักรอยุธยามีอำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัย ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกว่า “ศักราช 781 (พ.ศ. 1962) มีข่าวว่าพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า (พญาไสสือไท) นฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเปนจราจล แลจึงเสด็จไปเถิงเมืองพระบาง ครั้นนั้นพระยาบาลเมืองแลพระยารามออกถวายบังคม” (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 394) ส่วนฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า “ศักราช 765 ปีมะแมเบญจศก (พ.ศ. 1946) มีข่าวมาว่าพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกเสด็จสวรรคต แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล จึงเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง พญาบานเมือง พญาราม ออกมาถวายบังคม...” (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 50) แม้ว่าช่วงเวลาของทั้งสองแหล่งข้อมูลคลาดเคลื่อนกัน แต่สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 3 หรือ ไสยลือไทย แห่งกรุงสุโขทัยสวรรคต ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างพระราชโอรสทั้งสอง ได้แก่ พระยาบาลเมืองและพระยาราม เป็นเหตุให้สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์ หรือพระอินทราชาธิราช) แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จมาที่เมืองพระบาง พระยาบาลเมืองกับพระยารามจึงได้เสด็จลงมาถวายบังคม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้โปรดสถาปนาพระยาบาลเมือง เป็นพระมหาธรรมราชาที่ 3 ครองเมืองพิษณุโลก และให้พระยารามไปครองเมืองสุโขทัย (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542: 53)


เปลี่ยนชื่อเมืองพระบาง เป็นเมืองนครสวรรค์

เมื่อเมืองพระบางถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้ว จึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองนครสวรรค์ มีสถานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ดังปรากฏในพระไอยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมือง สมัยอยุธยา (ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2564: 24) บันทึกเกี่ยวกับเมืองพระบางครั้งหลังสุด คือในปี พ.ศ. 1962 (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 394) เมื่อพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลกเสด็จสวรรคต แล้วหัวเมืองเหนือทั้งหมดเกิดการจลาจล แต่เมื่อถึงเหตุการณ์การยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในคราวสงครามช้างเผือกของพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2106 มีการกล่าวถึงชื่อ “เมืองนครสวรรค์” โดยที่ไม่เรียกชื่อ เมืองพระบาง อย่างในสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช จึงมีความเป็นไปได้ว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยาต้องการให้เมืองนี้เป็นเมืองที่มีชื่อและความหมายของเมืองสอดคล้องกับชื่อเมืองอื่น ๆ ที่ถูกเปลี่ยนโดยใช้ชื่อที่เป็นมงคล (ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2564: 24) อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมืองพระบางน่าจะถูกกรุงศรีอยุธยายึดครองไป ก่อนปี พ.ศ.1972 เพราะมีบันทึกในตำนานมูลศาสนา ฝ่ายวัดสวนดอก เชียงใหม่ (2537: 40 อ้างถึงใน ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2564: 24) ว่า ช่วงปีนั้นท่านคัมภีร์ (ชินกาลมาลีปกรณ์) หรือ พระธรรมคัมภีร์ ได้ขอที่สร้างวัดที่อยุธยา เพื่อบวชพระภิกษุในลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ไม่พระประทานให้ ท่านคัมภีร์จึงได้มาขอสร้างวัดที่เมืองพระบาง แต่เจ้าเมืองพระบางก็ไม่ยอมยกที่ให้ เพราะเมืองพระบางซึ่งอยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาก็ต้องปฏิบัติตามพระเจ้าแผ่นดิน (ประเสริฐ ณ นคร, 2549: 245) แสดงว่าเมืองพระบางในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาแล้ว

 

นครพังคา

หลายแหล่งข้อมูลอ้างว่า เมืองนครสวรรค์ เคยถูกเรียกว่า เมืองพังคา เช่น

แหล่งข้อมูลที่ 1 ทิวารักษ์ เสรีภาพ (2553: 20) และ กระทรวงมหาดไทย (2529: 159) ระบุว่า สมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 โปรดให้รวมเมืองพระบาง กำแพงเพชร และตาก เข้าเป็นแขวง เรียกว่า “นครพังคา”

แหล่งข้อมูลที่ 2 หอมรดกไทย (ม.ป.ป) ระบุว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้นเรียกเมืองนครสวรรค์ว่า เมืองพังคา ยังมีแนวกำแพงดิน และคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ ๘๐ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร กว้าง ๒ เมตร
           แหล่งข้อมูลที่ 3 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544: 5) ระบุว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพ่องั่ว) ทรงยกทัพไปตีกรุงสุโขทัย โดยเคลื่อนผ่านเมืองพระบาง ได้เสบียงอาหาร ช้าง ม้า มากมาย จึงได้ตั้งชื่อเมืองพระบางว่า เมืองพังคา หรือ นครพังคา ซึ่งแปลว่าช้างศึก

การที่มีผู้คนเข้าใจว่า เมืองนครสวรรค์ เคยถูกเรียกว่า เมืองพังคา อาจเพราะนำมาจากข้อสังเกตุของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระราชนิพนธ์ เที่ยวตามทางรถไฟของ (2509: 50) ที่บันทึกว่า “บางทีจะเป็นเมืองนี้เองที่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พรั่ว) เรียกว่าเมืองนครพังคา ชื่อที่เรียกว่าเมืองนครสวรรค์เห็นว่าจะมาบัญญัติขึ้นต่อชั้นหลัง” แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางเอกสาร พบว่า มีการกล่าวถึงนครพังคาเพียงครั้งเดียวในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ โดยระบุว่า “ศักราช 734 ชวดศก (พ.ศ. 1915) เสด็จไปเอานครพังคา แลเมืองแสงเชรา” (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 390, 391) แปลความได้ว่า พ.ศ. 1915 สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพ่องั่ว) ได้ไปยึดครองนครพังคาและเมืองแสงเชรา แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุชี้ชัดว่า นครพังคาและเมืองแสงเชรา อยู่บริเวณใด นอกจากนั้น ทั้งนครพังคา และ เมืองพระบาง ต่างมีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ เมืองพระบาง ปรากฏหลักฐาน ในศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ปี พ.ศ. 1835 ดังนั้นถ้าเมืองพระบาง ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น นครพังคาซึ่งมีปรากฏชื่อในปี พ.ศ. 1915 (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 390) เหตุใดจึงมีการบันทึกชื่อเมืองพระบางอีกครั้งใน พ.ศ. 1962 (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 394) จึงสันนิษฐานได้ว่า เมืองพระบาง ไม่น่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับ นครพังคา

 

เมืองนครสวรรค์: บทบาทของเมืองในสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองสำคัญมีเส้นทางเชื่อมต่อกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองฝ่ายเหนือในลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำยม (ธีระวัฒน์ แสนคำ, 2564: 30) โดยหัวเมืองฝ่ายเหนือในลุ่มแม่น้ำปิง เช่น เมืองกำแพงเพชรและเมืองตากง เมืองพิจิตร หัวเมืองฝ่ายเหนือในลุ่มแม่น้ำน่าน เช่น เมืองพิษณุโลก และเมืองพิชัย และหัวเมืองฝ่ายเหนือในลุ่มแม่น้ำยม เช่น เมืองสุโขทัยและเมืองสวรรคโลก

เมืองประชุมพล การสงครามไทยระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรตองอู หรือสงครามไทยรบพม่า สมัยก่อนนั้นประกอบไปด้วยกำลังพล พาหนะ สัมภาระ และเสบียงจำนวนมาก เคลื่อนย้ายกำลังพลแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนาน จำเป็นต้องเลือกเมืองสำคัญสำหรับรวมกำลังพล หรือประชุมพล เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนทัพและถอยทัพ ซึ่งเมืองนครสวรรค์มีชัยภูมิที่ดี เป็นจุดรวมเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและน้ำสะดวกแก่การลำเลียงไพร่พลและยุทธสัมภาระต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีเส้นทางตัดไปยังพื้นที่หรือเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอื่น ๆ ได้ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2528: 198) ด้วยเหตุนี้ กองทัพจากอาณาจักรตองอู หรือ กองทัพพม่าจำเป็นต้องยึดเมืองนครสวรรค์ เพื่อป้องกันการบุกทะลวงหรือตีโต้จากอยุธยา ขณะเดียวกันก็สามารถใช้กองทัพที่ประชุมกันอยู่ที่นครสวรรค์บีบให้อยุธยาซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่า จำต้องหันไปใช้กรุงพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งรับ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2528: 200)  สํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์ (2562: 9) และ สุเนตร ชุตินธรานนท์ (2528: 199) กล่าวว่า กองทัพจากอาณาจักรตองอู หรือ กองทัพพม่าได้ใช้เมืองนครสวรรค์เป็นที่ประชุมพล ประมาณ 23 ปี ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2106 - 2129 ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่าปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนอง ยกทัพลงมาที่อยุธยา (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 410) แต่ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงเมืองนครสวรรค์ ส่วนฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2091 สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี และ สมเด็จพระมหาธรรมราชา (รวมถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด) ใช้นครสวรรค์เป็นที่ประชุมพล โดยมีเนื้อหาว่า “สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็จัด 30,000 มาโดยเสด็จในกองทัพหลวง สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีก็เสด็จยกลงมาประชุมทัพ ณ นครสวรรค์” (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 97) จนถึง สงครามในปี พ.ศ. 2129 (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 417) ทัพของพระเจ้านันทบุเรงแห่งอาณาจักรตองอู ประสบความล้มเหลวในการรบจนต้องปราชัยไป จึงเปลี่ยนกลยุทธ์กลับมาเดินทัพทางด่านเจดีย์สามองค์ ในปี พ.ศ. 2133 (รวี สิริอิสสระนันท์, 2553: 419-420) หลังจากนั้นความสำคัญของเมืองนครสวรรค์ในฐานะเมืองประชุมพลของอาณาจักรตองอู จึงได้สิ้นสุดลง (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2528: 201-202)

เมืองหน้าด่านและเมืองส่งกำลังบำรุง ที่ตั้งของเมืองนครสวรรค์มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหัวเมืองทางเหนือและส่วนกลาง และระหว่างพม่ากับอยุธยา และกับกรุงเทพฯ ด้วย (สุทธิพันธ์ ขุมรานนท์, 2528: 415) นับตั้งแต่สงครามปี พ.ศ. 2129 ผู้นำทหารของอยุธยาได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบ โดยเคลื่อนกำลังพลไปยังเมืองที่มีชัยภูมิที่เหมาะสม (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2528: 201) ไม่ยอมให้ทัพข้าศึกใช้เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองประชุมพล ในการสงครามระหว่างอาณาจักรธนบุรีและกองทัพของราชวงศ์โก้นบองของพม่า พระเจ้าตากสินปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการรบ จากเดิมที่เป็นการตั้งรับศึกในพระนคร แล้วรอจนถึงฤดูน้ำหลาก ให้ข้าศึกล่าถอยทัพกลับไป ไปเป็นการออกไปรับศึกภายนอกเมือง อาจเพราะป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 ในครั้งนี้พระเจ้าตากสินได้ทรงใช้เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองหน้าด่าน ค่อยส่งกำลังบำรุงให้แก่กองทัพที่ยกทัพขึ้นไปรับข้าศึกทางเหนือ (สุชาติ แสงทอง, 2560: 24) เช่น ที่ปากพิง พิษณุโลก ลำปางและเชียงใหม่ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2528: 201) การสงครามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ใช้พื้นที่บริเวณตลาดศรีนครปัจจุบัน เป็นที่ตั้งทัพหลวง โดยมีการดัดแปลงขุดคูประตูหอรบจากทางทิศตะวันตกของตลาดสะพานดำไปบ้านสันคู ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ดอนขาดน้ำในฤดูแล้ง ถ้าฝนตกลงมาจะเกิดน้ำหลากท่วมข้าศึกได้ (สุชาติ แสงทอง, 2560: 24) สอดคล้องกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2509: 50) กล่าวว่า “กองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์ทุกคราว ค่ายมั่นครั้งกรุงธนบุรีและครั้งรัชกาลที่ 1 ยังมีแนวเทินดินปรากฏอยู่ตรงที่ตั้งโรงทหารเดี๋ยวนี้”

 

เมืองนครสวรรค์: ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองในสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนครสวรรค์ มีหลายแหล่งข้อมูล เช่น

แหล่งข้อมูลที่ 1 หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 3 (2520: 615) ระบุว่า เมืองนครสวรรค์เดิมมีเขตตั้งแต่ชายเขาขาดลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ต่อมาย้ายที่ทำการไปตั้งทางฝั่งซ้าย ใต้เมืองเก่า 8 กิโลเมตร จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายไปตั้งทางฝั่งขวาอีก ซึ่งฝั่งซ้ายหมายถึงฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งขวาหมายถึงฟากตะวันตก เนื่องจากเป็นหลักการดูทิศทางการไหลของแม่น้ำโดยการหันหน้าไปยังปลายน้ำหรือปากแม่น้ำ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้

แหล่งข้อมูลที่ 2 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2509: 50) ระบุว่า ในชั้นหลังย้ายลงมาตั้งทางฝั่งตะวันออกข้างใต้เมืองเดิมลงมากว่า 8 กิโลเมตร เห็นจะเป็นเพราะสายน้ำพิงเปลี่ยนทางเกิดหาดใหญ่ขึ้นบังเมืองเดิมกลายเป็นที่กันดารน้ำ เจ้าเมือง กรมการ จึงต้องย้ายลงมาหาที่ใกล้น้ำตั้งบ้านเรือนและศาลากลาง (เข้าใจว่าจะย้ายลงมาเมื่อในชั้นรัตนโกสินทร์นี้)

แหล่งข้อมูลที่ 3 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2515: 45-46) เดิมอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหลังตลาดปากน้ำโพ บัดนี้เป็นเมืองมีปราการไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่ทว่าตั้งอยู่บนเนินเขา ฤดูน้ำ ๆ ท่วมไม่ถึงเหมือนกับที่แห่งอื่น ๆ ในแถวปากน้ำโพนั้น แต่กระนั้นก็ต้องทิ้งให้เป็นเมืองร้าง เห็นจะเป็นเมื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะในแม่น้ำตรงหน้าเมืองเกิดหาดทรายรุกล้ำน้ำไหลออกไปเสมอ ที่ในเมืองถึงฤดูแล้งก็กันดารน้ำ จนชาวเมืองพากันย้ายไปอยู่ที่อื่น ลงที่สุดเจ้าเมืองกรมการก็จ้องย้ายไปด้วย ซึ่งครั้งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการ ปี พ.ศ. 2441 เมืองนครสวรรค์ คือหมู่บ้านของเจ้าเมืองกรมการ ตั้งอยู่ที่ตำบลทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากปากน้ำโพมาข้างใต้ประมาณ 200 เส้น

แหล่งข้อมูลที่ 4 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2542: 89) และ กรมศิลปากร (2516: 251) ระบุว่า สมัยกรุงธนบุรี แม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน จึงย้ายเมืองไปอยู่บ้านตลาดไผ่ล้อม บริเวณใต้มณฑลทหารบกที่ 4

แหล่งข้อมูลที่ 5 ชื่อเมืองนครสวรรค์ปรากฏหลักฐานบนแผนที่ของชาวตะวันตก ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยปรากฏชื่อ Laconsevan อยู่ในแผนที่ราชอาณาจักรสยาม (ค.ศ. 1691 หรือ พ.ศ. 2234) ของ มอซิเออร์ เดอ ลามาร์ และ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ วิศวกรและราชฑูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามารับราชการสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2555: 68) แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าเมืองนครสวรรค์อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกหรือตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ดูภาพ 3) ส่วนแผนที่ของ ปิแอร์ ฟาน เดอ อา นักแผนที่ชาวฮอลันดา ค.ศ.1713 หรือ พ.ศ. 225 (ดูภาพ 4) และ ฌาค นิโคลาส์ เบลเลง นักแผนที่ชาวฝรั่งเศส ค.ศ.1764 หรือ พ.ศ. 2307 ระบุว่าตำแหน่งเมืองนครสวรรค์ (Laconcevan หรือ Laconsevan) ตั้งอยู่บริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

จากหลักฐานที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ในช่วงอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครสวรรค์ได้ตั้งอยู่บนบริเวณพื้นที่ทางใต้ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว อาจเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้ภูเขาทำให้น้ำไม่ท่วม เหมาะกับการอยู่อาศัยและทำมาหากิน รวมถึงใกล้กับศาสนาสถานสำคัญ เช่น วัดถือน้ำ (วัดศรีสวรรค์สังฆาราม) และวัดจอมคีรีนาคพรต ในขณะที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกนั้นเป็นโรงทหารเก่าที่เคยถูกใช้สมัยรัชกาลที่ 1 อย่างไรก็ตามเมื่อย้ายเมืองนครสวรรค์มาพื้นที่บริเวณนี้ ก็อาจมีการย้ายที่ตั้งของเมืองสลับกันไปมาระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากเมืองในอดีตที่ไม่มีป้อมปราการจะไม่มีที่ตั้งแน่นอน ตำแหน่งของเมืองจะอ้างอิงจากที่ตั้งของจวนหรือบ้านพักของเจ้าเมืองเป็นหลัก เจ้าเมืองและกรมการเมืองต้องเป็นผู้จัดหาทุนสร้างจวนและศาลากลางด้วยตัวเอง โดยเจ้าเมืองต้องใช้โถงศาลาหรือศาลากลางที่ปลูกไว้นอกรั้วจวนของตนเป็นสถานที่ว่าราชการ และต้องมีเรือนจำนักโทษอยู่ภายในรั้วบริเวณจวน เมื่อเจ้าเมืองเก่าพ้นตำแหน่ง เจ้าเมืองคนใหม่จึงต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางใหม่ ถ้าหาที่ในพื้นที่เดิมไม่ได้ ก็ต้องไปสร้างที่หมู่บ้านหรือตำบลอื่น (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2515: 36)

 

เมืองนครสวรรค์: บทบาทและตำแหน่งที่ตั้งของเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5

มณฑลนครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ด้วยการจัดรูปแบบการปกครองแบบใหม่ เรียกว่า มณฑลเทศาภิบาล ซึ่งรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล มีผู้ปกครองมณฑล เรียกว่า ข้าหลวงเทศาภิบาล  มีศาลาว่าการมณฑลเป็นสถานที่ว่าราชการ ซึ่งในปี พ.ศ. 2458 ดินแดนสยามมีมณฑลอยู่ 19 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 72 เมือง ต่อมาลดเหลือ 14 มณฑล ได้แก่ กรุงเทพพระมหานคร มณฑลจันทบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนครราชสีมา มณฑลปราจีนบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลพายัพ มณฑลพิษณุโลก มณฑลภูเก็ต มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลอุดรธานี ส่วนมณฑลนครสวรรค์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2438 ครอบคลุม 8 เมือง คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาถ ตาก อุทัยธานี พยุหะคีรี มโนรมย์ และสรรค์บุรี โดยมีพระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2555: 242) กล่าวว่า เดิมทีนั้นศาลาว่าการมณฑลนครสวรรค์อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับศาลากลางและจวนผู้ว่าราชการเมืองนครสวรรค์ ต่อมาได้ย้ายศาลากลางมารวมกับศาลาว่าการมณฑล ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนจวนผู้ว่าเดิมนั้นกลายเป็นบ้านพักของหลวงสมัครสโมสร ผู้ว่าราชการเมืองนครสวรรค์ คนที่ 3 เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 มีพระราชโองการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ยุบเลิกมณฑลนครสวรรค์ โดยจังหวัดต่าง ๆ ในมณฑลนี้ ให้ไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา ยกเว้น ตากและกำแพงเพชร ให้ไปขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาล (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542: 53-56) จากนั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น โดยมี “จังหวัด” เป็นเขตปกครองย่อยของไทยที่ีระดับสูงสุด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจบริหารจังหวัดเพียงผู้เดียว (สุชาติ แสงทอง, 2560: 27)

เมืองนครสวรรค์และจังหวัดนครสวรรค์ ในการปกครองแบบระบบมณฑลเทศาภิบาล คำว่าเมือง ถูกใช้สองความหมาย ได้แก่ 1) เมืองที่หมายถึง พื้นที่ศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด และ 2) เมืองที่หมายถึง หน่วยการปกครองแบบจังหวัด ทำให้ผู้คนมักใช้คำว่า เมืองและจังหวัด สับสนกัน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่การปกครอง ในปี พ.ศ. 2459 มีการกำหนดให้เปลี่ยนคำว่า เมือง มาใช้เป็นคำว่า จังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการเมืองให้เรียก ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตำบลเมือง ใช้เรียกตำบลที่ผู้คนเคยเรียกเมืองมาก่อน เช่น ตำบลเมืองสวรรคโลก ส่วนอำเภอเมือง ใช้เรียกพื้นที่ตำบลที่อยู่ในกำแพงเมืองและตำบลที่อยู่ติดต่อกับกำแพงเมือง ส่วนตำบลที่ไม่มีหมู่บ้านติดต่อกับตำบลเมือง ไม่ให้เรียกว่าเมือง (สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, ม.ป.ป.) เมืองนครสวรรค์ย้ายที่ตั้งครั้งท้ายสุด ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อรัฐสยามเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลได้สักระยะ จึงย้ายศาลารัฐบาลและบ้านเรือนราชการข้ามไปสร้างทางฝั่งตะวันตกข้างใต้ตลาดปากน้ำโพ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2509: 51) ซึ่งศาลารัฐบาลนั้นหมายถึง ศาลาว่าการมณฑลนครสวรรค์ เดิมทีเป็นหมู่บ้านของเจ้าเมืองกรมการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันออก (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2515: 45-46) บริเวณบ้านตลาดไผ่ล้อม (กรมศิลปากร, 2516: 251) ต่อมาได้ย้ายมาตั้งใหม่บริเวณถนนสวรรค์วิถี ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันตก ในปี พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนการปกครองประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงได้เปลี่ยนชื่อ ศาลาว่าการมณฑลนครสวรรค์ เป็นศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ (กระทรวงมหาดไทย, 2565: 79) โดยมีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่ตลาดสะพานดำ ซึ่งชาวบ้านต่างอำเภอจะนำสินค้าจำพวกข้าว สัตว์ป่า ของป่า หวาย เปลือกสีเสียด เข้ามาขาย (สุจินดา เจียมศรีพงษ์, 2528: 216)

เมืองชอนตะวัน ชื่อเรียกท้องถิ่นของเมืองนครสวรรค์ มีเอกสารหลายแหล่งระบุว่า เมืองชอนตะวัน เป็นชื่อท้องถิ่นอีกชื่อนึงของเมืองนครสวรรค์ ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน ดังนี้

แหล่งข้อมูลที่ 1 สุชาติ แสงทอง (2560: 2) ในสมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ชอนตะวัน เนื่องจากตัวเมืองอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้แสงตะวันส่องเข้าหน้าเมือง ต่อมาเมื่อย้ายตัวเมืองมาอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นครสวรรค์

แหล่งข้อมูลที่ 2 กรมศิลปากร (2516: 251) ภายหลังสมัยธนบุรี ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ใต้มณฑลทหารบกที่ 4 ตรงที่เรียกว่า “บ้านตลาดไผ่ล้อม” บางคนเรียกว่า เมืองทานตะวัน หรือ ชอนตะวัน

แหล่งข้อมูลที่ 3 ทิวารักษ์ เสรีภาพ (2553: 20) ตัวเมืองย้ายจากฝั่งตะวันออก มาอยู่ฝั่งตะวันตก และหันหน้าเมืองสู่แม่น้ำทางทิศตะวันออก แสงอาทิตย์ยามเช้าจึงส่องเข้ามาทางด้านหน้าเมือง (ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์, 2543: 19) ทำให้เกิดคำว่า “เมืองชอนตะวัน” หรือ “ทานตะวัน”

แหล่งข้อมูลที่ 4 เสนีย์ ปราโมช (2528: 509) ในวัยเด็กได้ใช้ชีวิตในค่ายทหารบริเวณสันคูทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยนั้นเขาเรียกว่า “เมืองชอนตะวัน” เพราะตื่นขึ้นมาตะวันมันจะแยงตา

เมื่อพิจารณาจากแหล่งข้อมูลทั้งหมด แหล่งข้อมูลที่ 3 และ 4 ดูมีความเป็นไปได้มากที่สุด ชื่อเมืองชอนตะวัน น่าจะเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเมืองนครสวรรค์ย้ายมาที่ฝั่งตะวันตก ทำให้หน้าเมืองหันไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของเมือง จึงมีแสงตะวันส่องเข้ามาที่หน้าเมืองยามเช้า แต่ถ้าตัวเมืองอยู่ที่ฝั่งตะวันออก แบบแหล่งข้อมูลที่ 1 และ 2 แสงตะวันยามเช้าจะส่องมาทางด้านหลังของเมือง พื้นที่บริเวณนี้อยู่ใกล้กับค่ายทหารเก่า ซึ่งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงใช้เป็นที่ตั้งทัพหลวง ปัจจุบันคือตลาดศรีนคร (สุชาติ แสงทอง, 2560: 24) ในปี พ.ศ. 2445 พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช พระราชโอรสพระองค์ที่ 7 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้พื้นที่บริเวณนี้ตั้งเป็นกองทหารในจังหวัดนครสวรรค์ ต่่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้ย้ายไปอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายจิรประวัติ (กระทรวงมหาดไทย, 2529: 140-141)

 

เมืองปากน้ำโพ: ที่มาของเมือง

จากบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองนครสวรรค์ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2555: 242) ระบุว่า “ออกจากเมืองนครสวรรค์จะแวะตรวจอำเภอเมืองซึ่งตั้งอยู่ปากน้ำโพ” จึงสามารถกล่าวได้ว่า เดิมทีนั้นตัวเมืองนครสวรรค์และเมืองปากน้ำโพไม่ใช่เมืองเดียวกัน และอยู่คนละที่ตั้งกัน เมืองนครสวรรค์เป็นพื้นที่การปกครองและเป็นหัวเมืองเก่าแก่ที่ถูกเรียกโดยส่วนกลาง ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่รอบนอก ส่วนเมืองปากน้ำโพนั้นตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองหรือตลาดปากน้ำโพ เป็นพื้นที่ค้าขายที่ถูกเรียกโดยคนท้องถิ่น
เมืองนครสวรรค์ย้ายที่ตั้ง ทำให้เกิดเมืองปากน้ำโพ แต่เดิมนั้นตัวเมืองนครสวรรค์หรือเมืองพระบางตั้งอยู่ทางฝั่งแม่น้ำปิงด้านหลังตลาดปากน้ำโพ ต่อมาในช่วงอยุธยาตอนปลาย พื้นที่บริเวณดังกล่าวเกิดความแห้งแล้งกันดารน้ำเนื่องจากแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทางจนเกิดเป็นหาดทราย ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นที่มักอาศัยบนเรือนแพและเรือนไม้ริมฝั่งแม่น้ำ ชาวเมืองจึงพากันย้ายไปอยู่ที่อื่น ทำให้เจ้าเมืองนครสวรรค์ขณะนั้นต้องย้ายที่ทำการไปสร้างใหม่ใต้เมืองเก่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้ภูเขา ต่อมาพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำน่านเกิดเป็นพื้นที่ค้าขายสินค้าทางเรือของชาวจีน (เสนีย์ ปราโมช, 2528: 509) ซึ่งชาวบ้านและคนในพื้นที่เรียกชื่อแบบไม่เป็นทางการว่า “ปากน้ำโพ” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2528: 546) (ดูรูปที่ 5)
เมืองปากน้ำโพ ในอดีตนั้นเป็นเพียงชุมชนเรือนแพที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) ต่อมากลายเป็นชุมชนการค้าขนาดใหญ่ที่มีความคึกคักขอบผู้คนมากกว่าพื้นที่บริเวณตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหัวเมืองที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เดิมทีปากน้ำโพอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบ้านแก่ง จนเมื่อปี พ.ศ. 2447 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำโพ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์, 2543: 61) จนปี พ.ศ. 2460 จึงตั้งเป็น “อำเภอปากน้ำโพ” และในปี พ.ศ. 2481 เปลี่ยนเป็น “อำเภอเมืองนครสวรรค์”
มีตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “ปากน้ำโพ” ดังนี้

ข้อสมมติฐานที่ 1 ปากน้ำโพมาจาก ปากน้ำโผล่ เพราะเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ ที่แม่น้ำปิง วัง ยมและน่าน มาโผล่รวมกันเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

ข้อสมมติฐานที่ 2 ปากน้ำโพมาจาก ต้นโพธิ์ที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ เนื่องจากมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ริมตลิ่งใกล้วัดโพธาราม ประชาชนจึงเรียกว่า “ปากน้ำโพธิ์” (ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์, 2543: 19) “ปากแม่น้ำโพธิ์” ต่อมาค่อย ๆ กร่อนกลายเป็น “ปากน้ำโพ” มาจนปัจจุบัน (สุชาติ แสงทอง, 2557 อ้างถึงใน สํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์, 2562: 2)

ข้อสมมติฐานที่ 3 ปากน้ำโพมาจาก ปากน้ำของวัดโพธาราม หรือ วัดโพธิ์ ซึ่งสภาพภูมิศาสตร์บ้านเมือง ที่มีปากน้ำไหลมารวมกันตรงบริเวณวัดโพธาราม จึงเรียกต่อๆกันว่าปากน้ำวัดโพธาราม และพัฒนาเปลี่ยนมาเป็น “ปากน้ำวัดโพ” และ “ปากน้ำโพ” ในที่สุด (สุชาติ แสงทอง, 2557 อ้างถึงใน สํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์, 2562: 2)

ข้อสมมติฐานที่ 4 ปากน้ำโพมาจาก ปากน้ำของแม่น้ำโพ ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำปิง ส่วนที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำวังไหลมาบรรจบรวมกันตั้งแต่จังหวัดตากถึงนครสวรรค์ ดังนั้นตรงปากน้ำปิงมาสบกับแม่น้ำน่าน เรียกว่า “ปากน้ำโพ” (หลวงเทศาจิตรวิจารณ์, 2468: 15. หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1, 2520: 59 และ ทิวารักษ์ เสรีภาพ, 2553: 20)

ข้อสมมติฐานที่ 5 ปากน้ำโพมาจาก ปากน้ำของแม่น้ำโพ ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำน่าน บริเวณตั้งแต่อุตรดิตถ์จนถึงนครสวรรค์ เพราะไหลผ่านตลาดการค้าบางโพ-ท่าอิฐ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงต้นรัชกาลที่ 4 โดยเป็นตลาดน้ำแบบเรือนแพที่ขนสินค้าจากภาคกลางไปค้าขายในพื้นที่สิบสองพันนา หลวงพระบาง แพร่ น่าน ฯลฯ ดังนั้นจึงเรียกพื้นที่ตรงปากน้ำน่านว่า ปากน้ำโพ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 5 กุมภาพันธ์ 2559) ซึ่งแม่น้ำโพ หรือ แม่น้ำคลองโพมาจากคลองโพที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไหลลงมาแม่น้ำน่าน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2551 อ้างถึงในสํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์, 2562: 2)
จากการศึกษาพบว่า ข้อสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับบริบทของเมืองมากที่สุด คือ ปากน้ำโพมาจากปากน้ำของแม่น้ำโพ สอดคล้องกับหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางมาในเมืองไทยช่วงรัชกาลที่ 5 เช่น Herbert Warington Smyth (1898: 72), John Gordon Drummond Campbell (1902: 34) และ Cecil Carter (1904: 34) ต่างระบุไปในทางเดียวกันว่า บริเวณเมืองปากน้ำโพเป็นจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำปิง (Nam Ping หรือ Me Ping) และแม่น้ำโพ (Nam Po)  โดย Cecil Carter (1904: 35) กล่าวว่า แม่น้ำโพเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสวรรคโลก (แม่น้ำยม) และแม่น้ำพิษณุโลก (แม่น้ำน่าน) ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำปิง จนเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่บริเวณแม่น้ำโพนั้นมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มบึงหนองใกล้กับบึงบอระเพ็ด สอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นที่มักอยู่บริเวณริมทางน้ำ โดยมีลักษณะตรงกับภาพประกอบในหนังสือของ James McCarthy (1902: 128) ที่อธิบายสภาพบ้านเรือนบริเวณแม่น้ำโพในพื้นที่ปากน้ำโพ (ดูภาพ 5) ที่มีลักษณะเป็นเรือนแพและเรือนไม้ริมแม่น้ำ ส่วนพื้นที่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นเมืองนครสวรรค์เก่า ผู้คนได้ย้ายออกไปอยู่พื้นที่ทางใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว

 

เมืองปากน้ำโพ: ตำแหน่งที่ตั้งและบทบาทของเมือง 
เมืองปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำน่าน

มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายลักษณะของพื้นที่ปากน้ำโพ ในปี พ.ศ. 2377 ว่า “ทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยป่าทึบ ถ้ายิงปืนขึ้น จระเข้จะไหวตัวลงน้ำ แล้วลิงก็พากันร้องเจี๊ยวจ๊อกขรม เสียงช้างฟังเหมือนฟ้าผ่า ทำให้น่ากลัวพิลึก” (มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์, 2552: 79) ส่วนเมืองนครสวรรค์นั้นไม่ค่อยมีความสำคัญและมีสภาพเกือบจะร้าง (มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์, 2552: 78) ต่อมาหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของเมืองนครสวรรค์น่าจะรุ่งเรืองมากขึ้น (สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์, 2528: 416-417) ทำให้เกิดการแสวงหาสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าจากหลายแหล่งพื้นที่ นครสวรรค์กลายเป็นรัฐกึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลางสำหรับรวมสินค้าที่สำคัญ ก่อนส่งไปต่อไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ภายในอาณาจักรและภายนอกอาณาจักร โดยกลุ่มคนจีนเริ่มมาตั้งรกรากค้าขายทางน้ำบริเวณปากแม่น้ำน่าน หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “ปากน้ำโพ” เมื่อชาวจีนเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้มากขึ้น จึงมีการตั้งศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม (ปึงเถ่ากง) หรือ ศาลเจ้าพ่อแควใหญ่ บริเวณปากแม่น้ำน่าน คาดว่าน่าจะสร้างก่อนปี พ.ศ. 2413 ซึ่งเป็นปีที่ระบุใน ระฆังโบราณของศาลเจ้า ที่แกะสลักตัวอักษรจีนไว้ว่า “ปลายปีที่ 9 ของจักรพรรดิ์ถงจื่อในสมัยราชวงศ์ชิน ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) นายหงเปียว แช่ผู่ แห่งหมู่บ้านเคอเจี้นชัน อำเภอวุ่นอี้ (ปัจจุบันคือวุ้นซัน) มณฑลไหหนำ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้นำมาถวาย” (สุชาติ แสงทอง สุภาวรรณ วงค์คำจันทร์ ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร และพงษ์ศักดิ์ ศิริโสม, 2559: 31-33)

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2509: 50) กล่าวว่า “พวกพ่อค้าที่ปากน้ำโพรับสินค้ากรุงเทพฯ ขึ้นไปไว้จำหน่ายแก่พวกที่ล่องเรือสินค้าลงมาจากเชียงใหม่ และเมืองอุตรดิตถ์ พิษณุโลก แล้วรับซื้อสินค้าฝ่ายเหนือส่งลงมาจำหน่ายทางข้างใต้” พื้นที่ริมแม่น้ำบริเวณปากน้ำโพจึงเกิดเป็นชุมชนการค้า และมีการตั้งบ้านเรือนและเรือนแพกันอย่างหนาแน่นจนมีสภาพเป็นเมืองลอยน้ำ (สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์, 2528: 417) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2510: 49) เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ปี พ.ศ. 2449 ได้ทรงกล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็นตลาดแพ ความเจริญของเมืองในขณะนั้นคือ ตั้งแต่แควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) จากสถานีรถไฟปากน้ำโพ ลงมาถึงท่าน้ำปากน้ำโพ พวกที่มีฐานะดีจะอาศัยอยู่บนเรือนแพบริเวณแควใหญ่เท่านั้น (สุจินดา เจียมศรีพงษ์, 2528: 217) ในบริเวณเกาะยม หัวเกาะเป็นแพของพ่อค้าและแขกวัวจากกรุงเทพ ที่ลากจูงเรือสินค้าขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพและภาคเหนือ รวมถึงแพของผู้ประกอบการห้างร้านในเมือง (อุดม จิตราทร, 2528: 473) ตัวเมืองฝั่งแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) มีโรงสี ตลาด โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง และโกดังสินค้ามากมาย นอกจากนั้นยังมีการส่งข้าวและไม้สักลงมาทางแม่น้ำน่านเป็นจำนวนมาก

การค้าของจังหวัดนครสวรรค์เจริญสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 และต้นรัชกาลที่ 7 บริเวณปากน้ำโพมีสภาพเป็นที่ชุมนุมของเรือค้าข้าวขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีไม้สักจำนวนมากถูกส่งตามกระแสน้ำมารวมกันที่ปากน้ำโพก่อนถูกกระจายไปทั่วตามที่ต่าง ๆ โดยมีพ่อค้าจากทั่วสารทิศมาชุมนุมเพื่อซื้อสินค้าและประมูลสินค้า (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542: 56) ต่อมาเริ่มมีการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือระยะทางจากลพบุรีถึงปากน้ำโพใน รศ.119 หรือ พ.ศ. 2443 (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, 2484: 140) เมื่อเปิดใช้งานสถานีรถไฟปากน้ำโพ ทำให้มีชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2542: 55) และทิวารักษ์ เสรีภาพ (2553: 20) อ้างว่า ในปี พ.ศ. 2447 มีชาวจีนในนครสวรรค์จำนวนประมาณ 6,000 คน ในขณะที่ภาคกลางไม่รวมกรุงเทพ มีชาวจีนประมาณ 10,000 คน และในมณฑลนครสวรรค์มีชาวจีนมากเป็นอันดับสาม รองจากกรุงเทพมหานครและภูเก็ต ส่วน สุชาติ แสงทอง (2560: 11) ระบุว่านครสวรรค์เป็นเมืองที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นอันดับสามของประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (2564: 116-117) พบว่า ในปี พ.ศ. 2447 มีชาวจีนในนครสวรรค์จำนวนประมาณ 6,283 คน พื้นที่สยามตอนกลาง ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มี 10,900 คน แต่ในหลายพื้นที่มีจำนวนชาวจีนมากกว่านครสวรรค์ เช่น กรุงเทพ 197,918 คน ราชบุรี 38,767 คน ปราจีนบุรี 35,912 คน นครชัยศรี 33,992 คน และอยุธยา 18,615 คน เป็นต้น ดังนั้นการกล่าวว่า มณฑลนครสวรรค์ หรือเมืองนครสวรรค์ มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นอันดับสามของประเทศ จึงเป็นการกล่าวเกินจริง


เมืองปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ตัวเมืองปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มมีความเจริญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2509: 51) กล่าวถึงเมืองปากน้ำโพช่วงเวลานั้นว่า “มีเรือแพขึ้นไปจอดค้าขายในลำน้ำทั้ง 2 แควมากมายเหมือนเป็นเมืองอันหนึ่งในลำน้ำที่บนบกทางดอนข้างหน้าเมืองเดิมก็เกิดตลาดห้างหอ” แสดงให้เห็นว่า แต่เดิมนั้นพื้นที่ฝั่งแม่น้ำน่านนั้นมีความเจริญก่อนพื้นที่ฝั่งแม่น้ำปิง จนเมื่อมีการขยายเส้นทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2465 เหล่าพ่อค้าใช้บริการขนส่งทางรถไฟกันมากขึ้น เป็นผลให้จำนวนเรือแพลดน้อยลงไป ผู้คนเริ่มจับจองที่ดินทำการเพาะปลูกมากขึ้น ป่าดงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองสาย เริ่มกลายเป็นเรือกสวนไร่นาและอาคารร้านค้า ต่อมามีการสร้างถนนลาดยางสายแรก ชื่อถนนโกสีย์ ในปี พ.ศ. 2470 และในปี พ.ศ. 2485 เริ่มมีทางหลวงเชื่อมระหว่างอำเภอ ต่อด้วยถนนสายเอเชีย จนเมื่อเปิดการใช้งานสะพานเดชาติวงศ์ ใน พ.ศ. 2493 ทำให้นครสวรรค์กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ ในการนั้นผู้คนที่จะเดินทางไปสถานีรถไฟปากน้ำโพ จากปกติต้องลงเรือจ้างไปสถานีรถไฟ ก็เริ่มหันมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางรถเมล์เล็ก (มานพ สุวรรณศรี, 2553: 92) ความสำคัญของแม่น้ำแควใหญ่ในการขนส่งทางน้ำจึงลดลงไป นครสวรรค์คลายความสำคัญด้านเศรษฐกิจแบบรัฐกึ่งกลางแลกเปลี่ยนสินค้าลง กลายเป็นเมืองผ่านเพราะสินค้าไม่ต้องมารวมกันที่นี่อีก การซื้อขายแบบเดิมและสภาพความคึกคักของตลาดที่มีพ่อค้ามาชุมนุมเพื่อเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ก็หมดไป (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542: 56) ตัวเมืองถูกพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์และห้องแถว มีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่ปากน้ำโพ ซึ่งมีตลาดลาวเป็นพื้นที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น ข้าว เกลือ ไม้สัก โอ่ง และสินค้าพื้นเมือง จำพวก หวาย ชัน น้ำมันยาง สีเสียด เปลือกไม้ น้ำผึ้ง สีผึ้ง เป็นต้น (สุจินดา เจียมศรีพงษ์, 2528: 216)

 

สรุปและอภิปราย

จากการศึกษาเรื่องราวจากเส้นเวลาและการเปลี่ยนผ่านของชุมชนในพื้นที่เมืองปากน้ำโพ ทำให้ทราบว่า เมืองปากน้ำโพและเมืองนครสวรรค์มีความเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์และตำแหน่งที่ตั้งของเมือง เมืองนครสวรรค์เป็นหัวเมืองใหญ่ ในอดีตมีชื่อว่า เมืองพระบาง เคยตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณวัดสี่เข่า หรือ วัดวรนาถบรรพตในปัจจุบัน แล้วได้ย้ายเมืองลงไปพื้นที่ทางใต้ ต่อมาเกิดชุมชนค้าขายบริเวณปากแม่น้ำน่าน ซึ่งผู้คนเรียกว่า ปากน้ำโพ แล้วได้ย้ายความเจริญไปยังพื้นที่ฝั่งแม่น้ำปิงใต้เมืองนครสวรรค์เก่า จนเกิดเป็นเมืองใหญ่ เมื่อความเจริญของเมืองปากน้ำโพและเมืองนครสวรรค์ขยายตัวขึ้น เมืองทั้งสองจึงถูกรวมเข้าเป็นเขตการปกครองเดียวกัน ชื่อว่าเมืองปากน้ำโพ หรืออำเภอปากน้ำโพ ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนครสวรรค์ หรือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ส่วนปากน้ำโพนั้นกลายเป็นชื่อเรียกแบบไม่เป็นทางการ
            จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปากน้ำโพมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นชุมชนการค้าที่มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้ามาซื้อขายข้าวของ ตัวเมืองเต็มไปด้วยร้านค้า อาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยของผู้คน จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญของจังหวัด แล้วถูกยกสถานะเป็นอำเภอปากน้ำโพ ในขณะที่นครสวรรค์นั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคาร สำนักงาน บ้านพักและพื้นที่ของข้าราชการ จึงมีความคึกคักของผู้คนน้อยกว่า ในปี พ.ศ.2481 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตั้งชื่อเมืองให้เหมือนกันทั้งประเทศ อำเภอปากน้ำโพถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองนครสวรรค์ตามชื่อจังหวัด โดยที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ยังตั้งอยู่ที่ปากน้ำโพ ขัดแย้งกับตำแหน่งที่ตั้งเดิมของเมืองทั้งสองที่อยู่คนละที่กัน (ดูภาพ 6) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสร้างความสับสนให้กับผู้คนท้องถิ่นรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้เห็นความหลากหลายของวิถีชีวิตและมุมมองทางประวัติศาสตร์ของเมืองได้กว้างขึ้น จึงอาจสรุปนิยามและความหมายของปากน้ำโพ นครสวรรค์ รวมถึงพระบาง ตามบริบทของช่วงเวลาและตำแหน่งที่ตั้ง ดังนี้

พระบาง หมายถึง 1) เมืองพระบางในสมัยพระนางจามเทวี ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองพระบางในสมัยสุโขทัย เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าในตำนานมูลเหตุศาสนา ที่ยังไม่มีความประจักษ์ในตำแหน่งที่ตั้ง 2) เมืองเก่าสมัยสุโขทัย ก่อนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนครสวรรค์ในสมัยอยุธยา 3) เมืองร้างที่ตั้งอยู่บริเวณวัดสี่เข่า ซึ่งช่วงเวลานั้นบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่รกร้าง 4) เมืองร้างที่ตั้งอยู่บริเวณวัดวรนาถบรรพต ซึ่งช่วงเวลานั้นบริเวณนี้เริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยแล้ว

นครสวรรค์ หมายถึง 1) ชื่อใหม่ของเมืองพระบาง หลังถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา 2) หัวเมืองสมัยอยุธยาตอนต้น เคยตั้งอยู่บริเวณเชิงเขากบ ตรงวัดสี่เข่า หรือ วัดวรนาถบรรพต ฝั่งแม่น้ำปิง 3) หัวเมืองสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เคยตั้งอยู่บริเวณบ้านตลาดไผ่ล้อม ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ตำบลนครสวรรค์ออกในปัจจุบัน 4) หัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือตำบลนครสวรรค์ตกในปัจจุบัน 5) มณฑลนครสวรรค์ รูปแบบการปกครองแบบเทศาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบไปด้วยหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาถ ตาก อุทัยธานี พยุหะคีรี มโนรมย์ และสรรค์บุรี มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองนครสวรรค์ 6) จังหวัดนครสวรรค์ เขตการปกครองส่วนภูมิภาค ถูกบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2459 เพื่อแทนคำว่า เมืองนครสวรรค์ 8) อำเภอเมืองนครสวรรค์ ศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดนครสวรรค์ 9) อำเภอเมืองนครสวรรค์ ชื่อใหม่ของอำเภอปากน้ำโพ ถูกใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481

ปากน้ำโพ หมายถึง 1) พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำโพ แควใหญ่ หรือ แม่น้ำน่าน 2) พื้นที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา 3) ชุมชนการค้าของชาวจีนที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่บริเวณปากแม่น้ำโพ แควใหญ่ หรือ แม่น้ำน่าน 4) เมืองที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 5) ตำบลปากน้ำโพ หรือ เมืองปากน้ำโพ 6) อำเภอปากน้ำโพ เมืองปากน้ำโพในช่วงปี พ.ศ. 2460-2481 เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด ที่ควบรวมเมืองปากน้ำโพและเมืองนครสวรรค์เข้าด้วยกัน 7) ชื่อเรียกแบบไม่เป็นทางการของเมืองนครสวรรค์ หลัง พ.ศ. 2481 จนถึงปัจจุบัน 8) ตลาดปากน้ำโพ ย่านการค้าเก่าแก่และศูนย์กลางความเจริญของจังหวัดนครสวรรค์

พื้นที่บริเวณปากน้ำโพ ตั้งแต่อดีต จนถึงปี พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนผ่านของรูปแบบวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ จำนวน 3 ช่วงเวลา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการโยกย้ายเปลี่ยนผ่านของชุมชนในพื้นที่ปากน้ำโพ คือ สภาพทางภูมิศาสตร์และรูปแบบการคมนาคมในพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อการวิถีชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน (ดูภาพ 7 และ 8)

ช่วงเวลาที่หนึ่ง: สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ศูนย์กลางความเจริญของพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองพระบางหรือเมืองนครสวรรค์เก่า ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณวัดวรนาถบรรพต หรือ วัดกบ และพื้นที่รอบนอก เมืองพระบางมีบทบาทเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐกึ่งกลางระหว่างดินแดนทางภาคเหนือและภาคกลาง ในเวลาต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนครสวรรค์ หลังจากถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา ตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมืองนครสวรรค์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคมและการศึกสงคราม ดังนั้นจึงถูกใช้เป็นเมืองประชุมพลของกองทัพพม่าก่อนบุกอยุธยาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง วิถีชีวิตของชาวเมืองนครสวรรค์ในสมัยนั้นมีความใกล้ชิดกับแหล่งน้ำ เพราะใช้ในการดำรงชีพ สัญจรเดินทาง หาอาหารและทำการเกษตร บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง และอีกส่วนหนึ่งอาศัยรอบคูเมืองเดิมบริเวณหลังตลาดปากน้ำโพ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติหรือภัยสงคราม ชาวเมืองส่วนหนึ่งจะลี้ภัยเข้าไปอยู่ในเมือง หรือล่องแพหนีไปยังพื้นที่อื่น เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของเมือง คือ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เกิดความแห้งแล้งกันดารในพื้นที่เมืองเดิม เนื่องจากแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางน้ำจนเกิดหาดทราย จึงย้ายเมืองนครสวรรค์จากฝั่งแม่น้ำปิงไปยังพื้นที่ทางใต้ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบ้านตลาดไผ่ล้อม อย่างไรก็ตาม มีอีกข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ คือ เมืองนครสวรรค์ย้ายลงมา หลังจากถูกกองทัพพม่าใช้เป็นเมืองประชุมพลอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่คราวสงครามช้างเผือกจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนผู้คนไม่กล้ากลับไปอยู่บริเวณเมืองเดิม ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ยังต้องรอการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

ช่วงเวลาที่สอง: สมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึงก่อนการสร้างทางรถไฟสายลพบุรี-ปากน้ำโพ ในปี พ.ศ. 2443 ศูนย์กลางความเจริญของพื้นที่อยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำน่านและฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ 4 พื้นที่ฝั่งแม่น้ำน่านมีกลุ่มชาวจีนได้ขนสินค้าเดินทางมาค้าขายทางเรือและแพ จนเกิดเป็นชุมชนค้าขายบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำน่าน หรือปากแม่น้ำโพ ซึ่งแม่น้ำโพ เป็นส่วนที่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านบรรจบกันที่ อำเภอชุมแสง ไหลมาจนถึงต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกพื้นที่ค้าขายบริเวณนี้ว่า “ปากน้ำโพ” มีการสร้างเรือนแพและบ้านเรือนกันอย่างหนาแน่นบนสองฝั่งแม่น้ำ วิถีชีวิตของชาวเมืองปากน้ำโพส่วนมากใช้เรือนแพเป็นที่พักอาศัยและเป็นพื้นที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนต่างพื้นที่ โดยเฉพาะข้าวและไม้สัก นอกจากนั้นพื้นที่ฝั่งแม่น้ำน่านยังเต็มไปด้วยโรงสี ตลาด โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง และโกดังสินค้ามากมาย เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของเมือง คือ เมื่อมีการเปิดใช้สถานีรถไฟปากน้ำโพ หลังปี พ.ศ. 2443 ทำให้ปากน้ำโพกลายเป็นพื้นที่ค้าขายสำคัญระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง จนมีแรงงานจีนเดินเข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก จนความเจริญขยายไปบริเวณพื้นที่เกาะยมและพื้นที่ราบบนฝั่งแม่น้ำปิง ส่วนพื้นที่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของเมืองนครสวรรค์ ประกอบไปด้วยที่พักของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมือง จากหลักฐานในแผนที่ของ ปิแอร์ ฟาน เดอ อา นักแผนที่ชาวฮอลันดา ปี พ.ศ. 2256 พบว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครสวรรค์ได้ตั้งอยู่บริเวณนี้แล้ว โดยเป็นเมืองหน้าด่านและเมืองส่งกำลังบำรุงของกองทัพกรุงธนบุรี มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกใช้เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการมณฑลนครสวรรค์ ในขณะที่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาถูกใช้เป็นคูค่ายทหารในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นที่ตั้งของค่ายทหารนครสวรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 5

ช่วงเวลาที่สาม: ตั้งแต่การเปิดใช้งานสถานีรถไฟปากน้ำโพ จนถึง พ.ศ. 2493 ศูนย์กลางความเจริญของพื้นที่อยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากเปิดใช้สถานีรถไฟปากน้ำโพบริเวณปากแม่น้ำน่าน ทำให้การค้าขายในพื้นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีผู้คนโดยเฉพาะแรงงานจีนเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก ส่งผลให้ตัวเมืองขยายไปยังพื้นที่ราบฝั่งแม่น้ำปิงและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมืองปากน้ำโพบริเวณถนนโกสีย์มีความเจริญมากที่สุด มีตลาดลาวเป็นพื้นที่ค้าขายสินค้า เช่น ข้าว เกลือ ไม้สัก โอ่ง และสินค้าพื้นเมืองจากพื้นที่ทางภาคเหนือของจังหวัด ส่วนเมืองนครสวรรค์นั้นเป็นที่ตั้งของศาลากลางและที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์ เดิมทีอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบ้านตลาดไผ่ล้อม แล้วได้ย้ายสำนักงานและบ้านเรือนราชการมาอยู่ฝั่งตะวันตกหรือบริเวณศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ในปัจจุบัน ซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า เมืองชอนตะวัน มีศูนย์กลางการค้าอยู่บริเวณตลาดสะพานดำ เมื่อมีการขยายเส้นทางรถไฟไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2465 และการเดินทางด้วยรถยนต์ได้รับความนิยมมากขึ้น รูปแบบตลาดและที่พักอาศัยของผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากเรือนแพและเรือนไม้ริมน้ำมาเป็นอาคารพาณิชย์ ร้านค้าและห้องแถวไม้ ต่อมาเมื่อพื้นที่ของเมืองปากน้ำโพและเมืองนครสวรรค์ขยายตัวขึ้น จึงถูกควบรวมเข้าเป็นพื้นที่การปกครองเดียวกัน เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของเมืองคือ เมื่อมีการเปิดใช้งานสะพานเดชาติวงศ์ในปี พ.ศ. 2493 เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือของประเทศ ความคึกคักของการสัญจรและการค้าขายทางน้ำบริเวณปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำน่านก็ลดความสำคัญลงไป สวนทางกับอาคารบ้านและการค้าขายในปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำปิงและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เจริญขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ผลจากการศึกษาค้นคว้าทำให้ทราบรูปแบบวิถีชีวิตและการเปลี่ยนผ่านของชุมชนในอดีต อาจช่วยทำให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของพื้นที่ปากน้ำโพและเมืองนครสวรรค์ในอนาคต ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้อาจช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่และนอกพื้นที่เกี่ยวกับความเป็นมาของเมือง รวมถึงสามารถปรับใช้กับการศึกษาและผลิตผลงานสร้างสรรค์ได้หลากหลายด้าน เช่น การเรียนการสอนในสถานศึกษา การสร้างเนื้อหาสำหรับสื่อสำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ของชุมชน แผนการพัฒนาเมืองและย่านเก่าแก่ การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

 

ข้อเสนอแนะ

การบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในอดีตมักมีความคลาดเคลื่อนด้านช่วงเวลา ดังนั้นจึงควรพิจารณาข้อมูลพงศาวดารหลาย ๆ ฉบับประกอบกัน ซึ่งพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด และได้รับการเชื่อถือสูง เน้นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปีโดยไม่ลงเนื้อหาเชิงปาฏิหาริย์หรือความพิสดาร (เด็กชายผักอีเลิด, 31 สิงหาคม 2565) ข้อมูลบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการท้องถิ่นมักไม่มีการอ้างอิงและการระบุแหล่งที่มา หลายหน่วยงานนำข้อมูลเก่าหลายสิบปีมาเผยแพร่ อาจทำให้ได้ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่ทันสมัย

 

Reference

Carter, Cecil. (1904). The Kingdom of Siam - Ministry of Agriculture, Louisiana Purchase Exposition. G.P. Putnam's Sons.
Smyth, Herbert Warington. (1898). Five Years in Siam from 1891 to 1896. Murray.

McCarthy, James. (1900: 128). Surveying and exploring in Siam. Murray.
Campbell, John Gordon Drummond. (1902: 34). Siam in the Twentieth Century. Edward Arnold.

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. (2484). การรถไฟไทย. โรงพิมพ์กรมรถไฟ.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2544). เก้าเลี้ยว. ศูนย์พัฒนาหนังสือ.

กรมศิลปากร. (2516). ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรมศิลปากร.

กระทรวงมหาดไทย. (2565). สมุดภาพ 130 ปี กระทรวงมหาดไทย 2435 - 2565. กระทรวงมหาดไทย.

กระทรวงมหาดไทย. (2529). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครสวรรค์ 2529. ไพศาลการพิมพ์.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครสวรรค์. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร.

เจตน์กมล วงษ์ท้าว. (2549). โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และสถานที่สำคัญ จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. (2564). Chinese Society in Thailand: An Analytical History [สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์]. มติชน.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2528). อภิปรายทั่วไปและสรุปผลการสัมมนา. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 539-550). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2555). ประมวลแผนที่ : ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมืองกับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์. มูลนิธิโตโยตา.

เด็กชายผักอีเลิด. (2565, 31 สิงหาคม). ชำแหละพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หนึ่งกรรมต่างวาระ ต้องศึกษาด้วยวิจารณญาณ. https://www.silpa-mag.com/history/article_92135

ทิวา ศุภจรรยา. (2528). สภาพแวดล้อมและโบราณคดีในจังหวัดนครสวรรค์. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 335-364). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

ทิวารักษ์ เสรีภาพ. (2553). เมืองปากน้ำโพโดยย่อ. ภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองปากน้ำโพ. ใน อเนก นาวิกมูล และคณะ (บ.ก.). (น. 20-21). โรงพิมพ์เดือนตุลา.

ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2564). บทบาทเมืองนครสวรรค์ในประวัติศาสตร์อยุธยา. วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา, 13(1), 23-37.

ประเสริฐ ณ นคร. (2528:). ประวัติศาสตร์ในจารึกจังหวัดนครสวรรค์. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 139-145). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

ประเสริฐ ณ นคร. (2549). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด : รวมบทนิพนธ์ เสาหลักทางวิชาการ. มติชน.

ประเสริฐ ณ นคร. (2562). บทความวิชาการจาก สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.

ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์. (2543). นครสวรรค์. องค์การค้าของคุรุสภา.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2510). เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5. โรงพิมพ์กรมสรรพสามิต.

มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. (2552). Descripthion de Royaume Thai ou Siam [เรื่องเล่ากรุงสยาม]. ศรีปัญญา.

มานพ สุวรรณศรี. (2553). ภาพถ่ายเหตุการณ์ สถานที่และอื่น ๆ ของตลาดปากน้ำโพในยุค 2490-2520 โดย มานพ สุวรรณศรี. ในอเนก นาวิกมูล และคณะ (บ.ก.), ภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองปากน้ำโพ. (น. 33-144). โรงพิมพ์เดือนตุลา.

นิพันธพงศ์ พุมมา. (2563). เมืองพระบาง ในประวัติศาสตร์นครสวรรค์. ไพศาลการพิมพ์.

รวี สิริอิสสระนันท์. (2553). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2520). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2520 เล่ม 1, 2, 3. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรมการปกครอง.

วชรพร อังกูรชัชชัย และ ดอกรัก พยัคศรี. (2550, 13 กุมภาพันธ์). จารึกวัดเขากบ. https://www.db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/215

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2555). การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สถาบันดำรงราชานุภาพ.

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2509). พระราชนิพนธ์ เที่ยวตามทางรถไฟ. โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์.

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2515). ประชุมพระราชนิพนธ์บางเรื่อง.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. (2552). บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม 3. มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป.

สาระพัน. (2564, 18 มิถุนายน). ศึกเลือดวัดสี่เขา นครสวรรค์ [Video]. Youtube. https://www.youtube.com/watch?v=9WcF5sxi-gI

สํานักศิลปะและวัฒนธรรม ราชภัฏนครสวรรค์. (2562). นครสวรรค์ศึกษา. วิสุทธิ์การพิมพ์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559, 5 กุมภาพันธ์). สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ได้ชื่อจากปากน้ำของแม่น้ำโพ (อุตรดิตถ์). https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_26858

สุจินดา เจียมศรีพงษ์. (2528). ชุมชนจีนและการเติมโตทางการค้าในจังหวัดนครสวรรค์. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 213-224). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

สุชาติ แสงทอง, สุภาวรรณ วงค์คำจันทร์, ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร และพงษ์ศักดิ์ ศิริโสม. (2559). 100 ปี วิถีปากน้ำโพ ประเพณีและพิธีกรรมแห่งเจ้าปากน้ำโพ. ซีดี เอ็กซ์เพิร์ท.

สุชาติ แสงทอง. (2560). นครสวรรค์ศึกษา บันทึกเรื่องราวคนจีนปากน้ำโพ. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.

สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์. (2528). การศึกษาประวัติศาสตร์เมืองนครสวรรค์จากจารึก ตำนาน นิทาน จดหมายเหตุ. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 407-426). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2528). นครสวรรค์ เมืองประชุมพลในประวัติศาสตร์สงครามไทยรบพม่าสมัยอยุธยา. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 196-202). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

เสนีย์ ปราโมช. (2528). บรรยายพิเศษ. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 508-521). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์. (ม.ป.ป.). 19 พฤษภาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนคำว่าเมือง เรียกว่า จังหวัด”. https://www.crownproperty.or.th/19-พฤษภาคม-2459-พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว-ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

หลวงเทศาจิตรวิจารณ์. (2468). ว่าด้วยแม่น้ำที่มีในประเทศสยาม. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.  

หอมรดกไทย. (ม.ป.ป.). มรดกทางวัฒนธรรม. http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/nakhonsawan3.htm

อุดม จิตราทร. (2528). นครสวรรค์ในความทรงจำของข้าพเจ้า. นครสวรรค์ เมืองประชุมพลในประวัติศาสตร์สงครามไทยรบพม่าสมัยอยุธยา. ใน สุภรณ์ โอเจริญ (บ.ก.), นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. (น. 471-490). วิทยาลัยครูนครสวรรค์.